ตามทันเกษตร : ปลูกสตรอเบอรี่รูปแบบใหม่

27.2.55
โดยช่อง 7 เมื่อ 27 ก.พ.2555

เกษตรกรหลายท่านคงมีปัญหาเหมือนท่านนี้ ที่เวลาปลูกสตรอเบอรี่ มักมีโรคระบาดที่มาทางดิน เช่นโรคแอนแทรกโนส การควบคุมส่วนใหญ่ เกษตรกรจะใช้สารเคมีเป็นหลัก มีบางรายใช้สารชีวภาพ เพื่อลดต้นทุน แต่กลับไม่ได้ผล

ตามทันเกษตรวันนี้ มีผลงานวิจัยของ

ด็อกเตอร์ปรีดา นาเทเวศน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพืชสวน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 

ที่ปลูกสตรอเบอรี่รูปแบบใหม่ ด้วยวิธีไฮโดรโปนิคส์หรือไร้ดิน หมดปัญหาเรื่องโรคระบาดทางดิน และเกษตรกรสามารถนำไปทำตามได้ง่าย

สำหรับวิธีการปลูก มี 2 แบบให้เลือกครับ วิธีแรก โดยทำแปลงปลูกคล้ายรูปหลังเต่าเหมือนทั่วไป จากนั้นขุดร่องตรงกลางลงไปคล้ายรูปตัววี ความลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วนำผ้าใบหนาปูทับลงไป ใช้แกลบดำผสมกับปุ๋ยหมักในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เทลงไปในร่อง 

จากนั้นจะวางระบบน้ำหยดสำหรับให้น้ำและปุ๋ยแล้วจึงนำต้นพันธุ์หรือไหลลงปลูก ส่วนการปลูกอีกวิธี อาจารย์เรียกว่าแบบยกสูง ซึ่งได้ดัดแปลงวิธีมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้โครงเหล็กมาทำเป็นชั้นปลูก ความสูงประมาณ 1.20 เมตร หรือขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งาน ใช้ผ้าพลาสติกหนาสีดำมาปู สำหรับเป็นรางปลูก ใส่ขุยมะพร้าวลงไป แล้ววางระบบน้ำและลงปลูกต้นพันธุ์เหมือนวิธีแรก

ส่วนการดูแล จะให้น้ำและแม่ปุ๋ยเคมีละลายบำรุงต้นเหมือนกันทั้ง 2 วิธี โดยจะให้เป็นเวลา วันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 15 นาที คือในช่วงเช้าประมาณ 07.00 น. และอีกช่วงประมาณ 14.00 น. ส่วนการป้องกำจัดโรคและแมลง จะใช้สารชีวภาพมาช่วยควบคุม

สำหรับเกษตรกรหรือคุณผู้ชมที่สนใจ อาจารย์ก็พร้อมจะเผยแพร่วิธีการปลูก-การดูแลให้ครับ ซึ่งวิธีนี้ช่วยประหยัดค่าต้นทุนการใช้สารเคมีได้

ข้อมูลเพิ่มเติม,โทร.053-873-380 , (ในวันและเวลาราชการ)
Read more ...

ตามทันเกษตร:เลือกใช้อุปกรณ์ระบบน้ำให้ถูกต้อง

27.2.55
 
โดยช่อง 7 เมื่อ 24 ก.พ.2555

ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกผักในพื้นที่ 1-5 ไร่ นิยมวางระบบน้ำในแปลงปลูก เพื่อลดการใช้แรงงานกัน แต่หลายรายก็มีปัญหา วางระบบน้ำไม่ถูกวิธี ทำให้การให้น้ำผักไม่ทั่วถึง ผลผลิตโตช้า และสิ้นเปลืองน้ำโดยเปล่าประโยชน์ มีคำแนะนำดีๆ จาก

คุณวิทยา สุขจาดนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท

 ในการวางระบบน้ำ และเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

คุณวิทยา แนะนำว่า ควรเริ่มต้นจากการเลือกระบบน้ำให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก หากเป็นพืชที่มีการปลูกเป็นแถวเป็นแนว ที่กำหนดระยะห่างระหว่างต้นและแถว แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยด ส่วนแปลงผักที่ปลูกเป็นแปลง ควรใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ แต่หากเกษตรกรต้องการให้ปุ๋ยไปพร้อมๆ กับการให้น้ำ ไม่ควรเลือกใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์สำหรับผักกินใบบางชนิด เพราะสารละลายปุ๋ยเคมี อาจทำให้ใบผักไหม้ได้ 

สำหรับพื้นที่ปลูกผักที่ไม่เกิน 1 ไร่ ควรเลือกใช้ปั๊มน้ำขนาด 1 นิ้ว 

แต่หากมีพื้นที่ 3ไร่ขึ้นไป จนถึง 10 ไร่ ให้ใช้ปั๊มน้ำขนาด 2 นิ้ว และควรติดตั้งระบบกรองน้ำด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน 

ส่วนท่อน้ำที่ใช้ สำหรับท่อหลักที่ต่อจากปั๊มน้ำและแหล่งน้ำ ให้ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว และท่อรองที่ต่อแยกจากท่อหลัก ใช้ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้วครึ่ง ทนแรงดันน้ำที่ระดับชั้น 5 ซึ่งเป็นท่อที่มีราคาค่อนข้างถูก 

สำหรับวิธีวางที่ถูกต้องควรฝังลงในพื้นดิน เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ที่อาจทำให้ท่อเสื่อมคุณภาพเร็ว 

ส่วนท่อย่อยที่ต่อจากท่อรองเข้าแปลงปลูกย่อย ๆควรเลือกใช้ท่อพีอี ขนาด 16-32 มิลลิเมตร เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกกว่าการใช้ท่อพีวีซี

ทั้งนี้การลงทุนอุปกรณ์ทั้งระบบสำหรับระบบน้ำหยด จะอยู่ที่ไร่ละประมาณ 10,000 บาท และระบบมินิสปริงเกลอร์ไร่ละ 6,000 บาท หากมีการบำรุงรักษาอย่างดี ก็จะใช้งานได้นาน 5 ปีขึ้นไป

นอกจากจะเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมแล้ว ต้องมีการคำณวนการให้น้ำที่เหมาะสมกับพืชและสภาพดินด้วย ก่อนตัดสินใจวางระบบน้ำ จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการรื้อและวางระบบใหม่
Read more ...