“หม่อน : มัลเบอร์รี่” มหัศจรรย์แห่งผลไม้

31.10.57
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2556

เมื่อพูดถึงต้นหม่อนแล้ว หลายๆคนคงจะนึกถึง ใบหม่อน ซึ่งเป็นอาหารของหนอนไหม อันเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำไปทำเป็นผ้าไหมลาดลายงดงาม ส่วน “ผลหม่อน” จากต้นหม่อนนั้นก็ยังสามารถนำมากินได้ด้วย แต่ผลหม่อนที่ว่านี้จะได้จากต้นหม่อนคนละสายพันธุ์กับต้นหม่อนที่นำใบไปเป็นอาหารหนอนไหม

“ผลหม่อน” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มัลเบอร์รี่” เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ชนิดหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางอาหาร มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว โดยผลของหม่อนเมื่อสุกได้ที่แล้วจะเป็นสีดำ มีรสชาติหวาน และถ้าเป็นสีแดงยังไม่สุกมาก จะออกรสเปรี้ยว

ปัจจุบันผลหม่อน นิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ อาทิ กรดโฟลิก (Folic acid) นอกจากนี้ในผลของหม่อนยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโธไชยานิน เควอซิติน ที่มีส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ตำรับยาโบราณมีการใช้ผลหม่อนต้มบริโภคทั้งเนื้อและน้ำแก้โรคไขข้ออักเสบ ท้องผูก โลหิตจาง และขับเสมหะ เป็นต้น

ที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ จ.น่าน ถือเป็นแหล่งปลูกหม่อนอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ ได้มีการส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่หันมาทำการเกษตรแบบใหม่แทนการทำไร่เลื่อนลอย รวมถึงทำการเกษตรปลอดสารแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป

ปัจจุบันผลหม่อนสดได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ที่สถานีฯ จะรับซื้อผลหม่อนสดจากชาวบ้าน และนำมาแปรรูปเป็นน้ำหม่อนเข้มข้น โดยน้ำหม่อนที่ได้จากการผลิตจะส่งมาขายที่ร้านภูพยัคฆ์ ในตัวเมืองจังหวัดน่าน และถ้าหากใครที่สนใจจะลิ้มลองรสชาติของน้ำหม่อน ก็สามารถไปหาซื้อมาชิมกันได้ ที่ร้านโกลเด้นเพลส สาขากรุงเทพฯ อีกด้วย
Read more ...

ปลูกไม้ผลด้วยกระถางแก้มลิง

28.10.57
เมื่อ 28 ต.ค.2557

กระถางต้นไม้แก้มลิง เป็นวิธีการเพื่อทำให้กระถางต้นไม้กักเก็บน้ำไว้ก้นกระถาง ทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อย โดยอาจใช้เวลารดน้ำแต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์เลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกระถาง

ขั้นตอนการทำ

1. นำกระถางไม่มีรู มาเจาะรูข้าง เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำออก

2. นำกระถางเล็กมาคว่ำลงในถังใหญ่ดังกล่าว แล้วติดตั้งท่อไว้ในกระถางเล็ก ให้ปลายสูงกว่ากระถางใหญ่่

3. ใส่เศษกระเบื้องไว้บนกระถางเล็ก เพื่อป้องกันวัสดุปลูกตกลงในกระถางเล็ก

4. ใส่หินลงไปในกระถางให้มิดกระถางเล็ก

5. ใส่ดิน

6. นำต้นไม้มาปลูก

7. ใส่น้ำลงในท่อ จนน้ำไหลออกจากรูด้านข้าง

8. รดน้ำต้นไม้ให้ชุ่ม

เท่านี้เราก็จะได้กระถางแก้มลิง เอาไว้ปลูกต้นไม้กันแล้วครับ

ทำให้เราไม่ต้องรดน้ำต้นไม้บ่อย ๆ
Read more ...

"คิดต่าง"อย่างชาวนา100 ล้าน

25.10.57
โดยข่าวสด เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คอลัมน์ เมืองไทย 25 น.

ทวี มีเงิน

ขณะ ที่ปัญหารายได้ของชาวนายังชักหน้าไม่ถึงหลัง นโยบายจำนำข้าวก็ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี นโยบายแจกเงินไร่ละพันก็แค่ผ่อนหนักให้เป็นเบายังมีชาวนาบางกลุ่มก็พยายามหา ช่องทางใหม่ๆ เพื่อ จับกลุ่มเฉพาะ หรือ Nich Market อย่างปลูกข้าวปลอดสารพิษ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิลแม้กลุ่มผู้บริโภคยังไม่กว้างแต่คู่แข่งน้อยจึงได้ราคาดี

มี บางกลุ่มกลับ คิดต่าง หาช่องทางสร้างตลาดใหม่ๆ อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงอย่างเช่น สุทิน กองทอง เจ้าของโรงสีเกริก เชียงรายที่หันมาปลูกข้าวญี่ปุ่น เพื่อป้อนร้านอาหารญี่ปุ่นที่กำลังเฟื่องฟูในบ้านเรา โดยปลูกข้าวญี่ปุ่นพันธุ์ อคิตะโค มาชิ หลังจากที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทดลองปลูกในพื้นที่ซึ่งเหมาะสำหรับเมืองไทย และความต้องการสูงโดยป้อนให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทุกวัน ความต้องการแต่ละปี 8,000-10,000 ตันต่อปี

สุทินเริ่มปลูก ข้าวญี่ปุ่นอย่างจริงจังปี 2550 ทุกวันนี้มีชาวนาในพื้นที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นมากขึ้นและส่งข้าว ให้กับโรงสีเกริกเป็นเครือข่ายกันราวๆ 500-600 ครัวเรือนพื้นที่ปลูกประมาณ 4 พันไร่เฉพาะเครือข่ายโรงสี เกริกผลิตได้ 1,500-2,000 ไร่ ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 40-42 บาทต่อกิโลฯ

ตอนนี้ยกระดับรวมตัวกันเป็น ชมรมผู้ประกอบการข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดยุทธศสาตร์แนวทางการปลูกข้าวญี่ปุ่นให้มีต้นทุนถูกลงและมีคุณภาพ สูงขึ้น นอกจากนี้ สุทิน ยังขยายพื้นที่ปลูกข้าวไทยคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งตลาดโลกต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แถมยังต่อยอดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสุขภาพ อย่างเช่นนำรำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์เสริมความงามภายใต้แบรนด์ ถาดทอง โดยขายผ่านเว็บไซต์เท่านั้น

อย่าง ไรก็ตามสำหรับการปลูกข้าวญี่ปุ่นนั้น แม้จะเป็นเรื่องยากและท้าทายที่นำเข้ามาทดลองปลูกในบ้านเราแต่ก็ไม่เกินความ สามารถของชาวนารุ่นใหม่อย่าง สุทิน ที่มีจิตใจที่มุ่งมั่น ขยันเรียนรู้ ปรับตัวไม่หยุดและทำเต็มที่ เพื่อพัฒนาการปลูกข้าวให้มีคุณภาพสูง

ด้วยจากความขยันคิด ขยันทำ เชื่อหรือไม่ผลลัพธ์ ที่ออกมาจึงสร้างรายได้ต่อปีมากกว่า 100 ล้าน... เห็นไหมชาวนาก็รวยได้
Read more ...

ผ่ากลยุทธ์โรงสี "เกริก" ครบเครื่องเรื่อง..."ข้าวญี่ปุ่น"

25.10.57
 
updated: 20 ม.ค. 2557 เวลา 16:30:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมนูข้าวปั้นหรือซูชิชนิดต่าง ๆ ที่วางขายทั้งในภัตตาคารหรูและร้านอาหารทั่วไป วัตถุดิบสำคัญก็คือข้าวญี่ปุ่นนั่นเอง

ปัจจุบันประเทศไทย สามารถที่จะปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นสำหรับบริโภคภายในประเทศได้แล้วจำนวนหนึ่ง และยังสามารถเปิดตลาดส่งออกไปยังไต้หวัน เกาหลีได้อีกด้วย

แต่...ใช่ว่าเราจะปลูกข้าวญี่ปุ่นกันได้ทุกที่ทุกฤดู เพราะพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะตัว และต้นทุนค่อนข้างสูง แหล่งที่มีการปลูกและได้ผลผลิตดียังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก เพราะมีสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงญี่ปุ่น อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา

"สุทิน กองทอง" ประธานชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และเจ้าของโรงสีเกริก ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่หมู่ 12 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงรายบอกว่า โรงสีเกริกทำธุรกิจค้าข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมนิล เพื่อจำหน่ายในประเทศ และผลิตข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวดำปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก โดยผ่านบริษัทส่งออกต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2545

และได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจข้าวญี่ปุ่นอย่างจริงจังเมื่อปี 2550 เนื่องจากความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาดข้าวญี่ปุ่นในเมืองไทยมีความต้องการประมาณ 8,000-10,000 ตันต่อปี ซึ่งการผลิตยังไม่พอกับความต้องการของตลาดในบางช่วงเวลา เช่น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม และเมษายนของทุกปี

ในส่วนของผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น เมื่อก่อนมีเพียง 3-4 ราย แต่ตอนนี้มีประมาณ 11 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา และลำพูน ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะมีคู่ค้าของตนเองอยู่แล้ว

ล่าสุดนี้ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น "ชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย" โดยอยู่ระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและการตลาดร่วมกันรับการเปิดเออีซี เพราะตั้งแต่ต้นปี 2556 เริ่มมีผู้นำเข้าข้าวญี่ปุ่นจากประเทศเวียดนามเข้ามาตีตลาด ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่าข้าวญี่ปุ่นที่ผลิตในเมืองไทย แต่ราคาค่อนข้างต่ำ ทำให้การแข่งขันในตลาดกลางและล่างรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตลาดล่าง (ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป, ร้านข้าวปั้นซูชิ) ได้หันมาใช้ข้าวญี่ปุ่นจากเวียดนามมากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดในบางช่วง

ในฐานะผู้คร่ำหวอดกว่า 30 ปีในวงการผลิตและค้าข้าวมาตั้งแต่ปี 2526 จากพนักงานส่งออกข้าว กระทั่งผันตัวเองมาเป็นเจ้าของกิจการโรงสีข้าว โดยเป็นลูกค้าอีกรายที่ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

"สุทิน" ให้ความรู้ว่า พันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ 1.พันธุ์ซาซานิชิกิ (Sasanishiki) เมล็ดป้อมสั้น เหนียว ไม่ร่วน ซึ่งนิยมนำไปทำข้าวปั้นหรือซูชิ และ 2.พันธุ์อะคิตะโคมาชิ (Akitakomashi) สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี

"การปลูกข้าวญี่ปุ่นผมบอกได้เลยว่าปราบเซียน ถ้าทำสเกลใหญ่จะลำบากมากพอเกี่ยวข้าวแล้วจะต้องรีบอบหรือตากให้แห้งภายใน 24 ชั่วโมง การปลูกจะต้องดูแลละเอียดยิบปัญหาโรคและแมลงก็เยอะ ต้นทุนก็สูง ตอนนี้อากาศบ้านเราแปรปรวน ในแง่การผลิตยากมาก ก่อนหน้านี้เคยมีนักการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่เคยทำในสเกลใหญ่มาแล้วรับมือไม่ไหว จึงล้มเลิกกิจการไปแล้ว"

ทั้งนี้ จุดแข็งของโรงสีเกริก คือ ใช้วิธีทำนาแบบครบวงจร (Contract Farming) โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ปุ๋ย-ยา และมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้กับเกษตรกร รวมทั้งประกันราคารับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด

ปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4 พันไร่ เกษตรกร 500-600 ราย กำลังการผลิตรวม 1,500-2,000 ตันข้าวสารต่อปี ซึ่งเกษตรกรที่มีความรู้ดีแล้วจะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 800-1,200 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 600-700 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40-42 บาท/กิโลกรัม

การตลาดส่วนใหญ่ใช้วิธีขายส่งภายในประเทศ และอีกประมาณร้อยละ 5 ส่งออกผ่านโบรกเกอร์นำไปทำข้าวถุงส่งห้างโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี, แม็คโคร ภายใต้แบรนด์ของผู้ซื้อในกรุงเทพฯ มียอดขายปีละประมาณ 60-80 ล้านตัน

สำหรับผลประกอบการในภาพรวมประมาณ 120 ล้านบาท โดยมียอดขายข้าวญี่ปุ่น 60-80 ล้านบาท

แม่ทัพโรงสีเกริกบอกว่า ตอนนี้เรื่องแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนที่ทำนาอายุ 40 ปีอัพทั้งนั้น จึงต้องหาวิธีการลดต้นทุนและเร่งคุณภาพให้ดีขึ้น เพื่อเป็นจุดแข็งให้กับสมาชิก ซึ่งพยายามจะไปเอาเทคนิคการเพาะปลูกมาจากภาคกลางทั้งวิธีทำนาโยน นาหยอด นาหว่าน เพื่อมาทดแทนนาดำ เพราะแนวโน้มแรงงานมีแต่จะหมดไปเรื่อย ๆ

ที่สำคัญในตอนนี้กำลังเฟ้นและบ่มเพาะเกษตรกรพันธุ์ใหม่ "หัวไว ใจสู้" เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการปลูกข้าวญี่ปุ่นให้มีคุณภาพ และเป็นครูสอนเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดธุรกิจโดยนำรำข้าวหอมนิลและข้าวญี่ปุ่นมาสกัดเย็น เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม/บำรุงผิว เช่น สบู่ ซีรั่ม และอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ถาดทอง ซึ่งรำข้าวญี่ปุ่นมีวิตามินอีสูงมากถึง 4 เท่าของข้าวหอมมะลิ

ความครบเครื่อง ครบวงจรเช่นนี้ ต้องยกให้โรงสีเกริกแห่งเมืองเชียงราย
Read more ...

การเสียบยอดกิ่งหม่อน

24.10.57
1. เตรียมกิ่งพันธุ์ดีกับต้นตอให้มีขนาดกิ่งที่ใกล้เคียงกัน

2. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปลิ่มยาว 1 ข้าง

3. ฝั่งตรงข้าม เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปลิ่มสั้น 1 ข้าง

4. บากแผลตามรูป  ความยาวของแผลให้เท่ากับแผลยาวของกิ่งพันธุ์ดี

 5. บากแผลตามรูป ความยาวของแผลให้เท่ากับแผลยาวของกิ่งพันธุ์ดี

 6. นำกิ่งทั้งสองมาทาบกัน โดยที่ให้เปลือกของกิ่งทั้งคู่ แนบติดกันทางด้านใดด้านนึง

 7. พันเทปหรือใช้เชือกฟางมัดกิ่งทั้งสองให้แน่น


8. นำถุงพลาสติกคลุม เพื่อลดอัตราการคายน้ำค่ะ เจาะรูนิดนึงเพื่อระบายความร้อนด้วย


หัวใจสำคัญของการเสียบกิ่งมีดังนี้
- แผลที่ปาดต้องเรียบไม่ช้ำ
- แผลต้องสะอาดและทำอย่างรวดเร็ว
- แผลที่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี จะต้องแนบสนิท เวลาพันผ้าพลาสติกแล้วต้องแนบสนิทไม่เห็นช่องว่าง
- การเสียบกิ่ง ต้องให้เปลือกข้างนึงของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีแนบสนิทกัน ส่วนเปลือกอีกข้างเหลื่อมกันได้ เน้นข้างใดข้างนึง
- ผ้าเทป พันจากล่างขึ้นบน เพื่อป้องกันน้ำเข้า แต่ถ้าไม่มี สามารถใช้เชือกฟางแทนได้แล้วก็ใช้ถุงครอบกิ่งพันธุ์ดีเอาไว้ เพื่อลดอัตราการคายน้ำ กิ่งพันธุ์ดีจะฟื้นตัวได้เร็ว
- ทุกครั้งที่ทำ ไม่ใช่ว่าจะเสียบติดทุกกิ่งนะคะ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง นอกจากฝีมือแล้ว ก็ยังมีสภาพภูมิอากาศ ความแข็งแรงของต้นตอและกิ่งพันธุ์เป็นตัวแปรสำคัญเหมือนกัน


ที่มา บ้านสวนหม่อนน้อย เกษตรพึ่งพาตัวเอง
Read more ...

เทคนิคการปลูกไม้ผลในภาชนะ

24.10.57
 
 
 
จัดทำโดย admin เมื่อ 24 ต.ค.2557

โดย http://research.rae.mju.ac.th/raebase/index.php/knowledge/2012/488-katang

ในอดีตที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรม การปลูกพืช หรือการเลี้ยงสัตว์ ล้วนแต่ทำเพื่อพออยู่พอกิน เหลือก็เอาไปขายซื้อสิ่งของอย่างอื่นที่ในพื้นที่ของตัวเองไม่มี ประกอบกับประชากรในประเทศยังมีไม่มากเหมือนปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่งจะมีพื้นที่ถือครองอย่างน้อย 10 ไร่ขึ้นไป

แต่ในปัจจุบันประชากรในประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ พื้นที่ทางการเกษตรหรือพื้นที่ถือครองลดน้อยถอยลง และกลายเป็นบ้านจัดสรรไปก็มาก พื้นที่ในบริเวณบ้านที่จะปลูกไม้ผลไว้รับประทานก็แทบจะไม่มี เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ต้องซื้อหาแทบทั้งนั้น เกษตรกรผู้ผลิตผักผลไม้ก็ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช อย่างไม่ระมัดระวังและเกินความจำเป็น ทำให้ประชาชนทั่วไปที่บริโภคได้รับสารเคมีเหล่านั้นตกค้าง ต้องผจญกับโรคภัยไข้เจ็บและต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการรักษา และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการนำเข้ายารักษาโรค ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันทำให้บ้านเรามีอากาศที่บริสุทธิในการหายใจ มีผลไม้ไว้รับประทานและใช้ประดับไว้บริเวณบ้าน มีผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน ประหยัดรายจ่ายตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญยังสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้รักใคร่กลมเกลียวในการชื่นชมผลผลิต ดอกและผลที่ได้ร่วมกันปลูก

ประโยชน์ของการปลูกไม้ผลในภาชนะ
- เจริญเติบโตได้เร็วกว่าปลูกลงดิน เพราะดินปลูกมีความร่วนซุย และ โปร่ง
- ใช้พื้นที่น้อย
- ให้ผลผลิตเร็ว
- ดูแลรักษาด้านโรค แมลง วัชพืช และการห่อผลง่าย
- บังคับออกดอกติดผลได้
- ควบคุมคุณภาพ และรสชาติได้ ดีกว่าปลูกลงดิน
- สามารถเคลื่อนย้าย หรือยกขายทั้งภาชนะได้
- ใช้เป็นไม้ประดับภายในบ้าน
- สร้างบรรยากาศภายในครอบครัว
- ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ มลภาวะ คายออกซิเจน และลดโลกร้อน

ชนิดของไม้ผลที่ปลูกในภาชนะ
ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ มะนาว ขนุน น้อยหน่า มะปราง มะยงชิด ละมุด มะละกอ กล้วย มะดัน ชมพู่ ลองกอง เงาะ มังคุด ทุเรียน เชอร์รี่ มะขาม มะไฟ มะเฟือง ฯลฯ

ภาชนะที่ใช้ปลูก
- วัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ปีบ กะละมัง ถังน้ำ ตุ่มใส่น้ำ ตุ่มกรองน้ำ หม้อต่างๆ ยางรถยนต์ ฯลฯ - กระถางพลาสติก กระถางดินเผา กระถางโอ่งมังกรราชบุรี วงบ่อซีเมนต์ ฯลฯ

วัสดุปลูก
- ดินดำ(หน้าดิน) 1 ส่วน
- แกลบดิบ  2 ส่วน
- มูลวัว, ควาย 1 ส่วน

การปลูกไม้ผลในวงบ่อซีเมนต์
ระยะปลูกตั้งแต่ ระยะระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร ขึ้นไป ( 1 ไร่จะปลูกได้ 133 ต้น) บ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ใช้ฝาวงบ่อซีเมนต์วางลงบนพื้นปรับให้เรียบ เอาวงบ่อวงซีเมนต์วางทับบนฝา จากนั้นผสมดิน 1 ส่วน แกลบดิบ (เปลือกข้าว) 2 ส่วน และปุ๋ยคอก 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในวงบ่อซีเมนต์ เหลือขอบวงบ่อซีเมนต์ไว้ประมาณ 3 นิ้ว นำไม้ผลลงปลูก และรดน้ำ ปักไม้ผูกเชือกลำต้นกันลมโยก เป็นอันว่าเสร็จกระบวนการ

การใช้วัสดุคลุมดินในการปลูกไม้ผลในภาชนะ

7ประโยชน์ของวัสดุคลุมดิน
- ประหยัดน้ำ และประหยัดแรงงานในการให้น้ำ ปกติการปลูกไม้ผลในภาชนะต้องรดน้ำวันเว้นวัน ถ้าหาก ใช้วัสดุคลุมหน้าดิน 4 วันรดน้ำ 1 ครั้ง เนื่องจากการระเหยของน้ำจากแสงแดด
- ป้องกันวัชพืช และประหยัดแรงงานในการกำจัดวัชพืช วัชพืชไม่ได้รับแสงจึงไม่สามารถงอกได้
- เพิ่มธาตุอาหาร และประหยัดเงินในการซื้อปุ๋ย เมื่อวัสดุคลุมหน้าดินโดนน้ำมีความชื้น จะทำให้การย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้เร็ว
- ไม่เกิดมลภาวะในการเผาทำลาย

วัสดุคลุมดิน
ได้แก่ ฟางข้าวแห้ง หญ้าแห้ง ชังข้าวโพดแห้ง กิ่งไม้บดแห้ง แกลบ (เปลือกข้าว) ผักตบชวาแห้ง เศษผัก เศษอาหาร พืชตะกุลถั่ว มูลวัว กากแอปเปิ้ล ฟางข้าวสาลี กระดาษ ขี้เลื่อย กาแฟบด เปลือกไม้ ขยะผลไม้ มูลสัตว์ปีกสด มูลม้า หนังสือพิมพ์ ใบสน มูลที่เน่าเปื่อย ใบไม้แห้ง(ใบจามจุรี หรือใบก้ามปู ดีที่สุด มีไนโตรเจน 3.25 เปอร์เซ็นต์)

การปลูกไม้ผลในวงบ่อซีเมนต์ร่วมกับพืชผัก
ในระหว่างไม้ผลเจริญเติบโต และยังไม่ให้ผลผลิต เราควรจะใช้พื้นที่ในวงบ่อซีเมนต์ให้เกิดประโยชน์ โดยการปลูกพืชผักในวงบ่อซีเมนต์ ไว้บริโภคในครัวเรือน และยังทำไปจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ชนิดพืชผักที่สามารถปลูกร่วมกับไม้ผลได้ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักฮ่องเต้ คะน้า กะหล่ำ ผักบุ้งจีน มะเขือ กระเจี๊ยบ กระเพรา โหรพา สละแหน่ ผักไผ่ คื่นฉ่าย ผักชี พริก ฯลฯ

การปลูกไม้ผลในวงบ่อซีเมนต์

ระยะปลูกตั้งแต่ ระยะระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 4 เมตร ขึ้นไป ( 1 ไร่จะปลูกได้ 133 ต้น) บ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ใช้ฝาวงบ่อซีเมนต์วางลงบนพื้นปรับให้เรียบ เอาวงบ่อวงซีเมนต์วางทับบนฝา จากนั้นผสมดิน 1 ส่วน แกลบดิบ (เปลือกข้าว) 2 ส่วน และปุ๋ยคอก 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในวงบ่อซีเมนต์ เหลือขอบวงบ่อซีเมนต์ไว้ประมาณ 3 นิ้ว นำไม้ผลลงปลูก และรดน้ำ ปักไม้ผูกเชือกลำต้นกันลมโยก เป็นอันว่าเสร็จกระบวนการ

ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ
Read more ...