ม.แม่โจ้ ปลูกองุ่น ได้ผลผลิตดีในพื้นที่ราบ พร้อมส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกร

1.1.57
โดยมติชน เมื่อ 15 มี.ค.2555

"องุ่น" ไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ทางสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงนำมาทดลองปลูกในพื้นที่ราบและพบว่าได้ผลผลิตมาก มีคุณภาพดี พร้อมส่งเสริมให้กับเกษตรกร

ดร. ชินพันธ์ ธนารุจ สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จากการทดลองปลูกองุ่นบนที่สูงได้ผลดี แต่เมื่อเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ราบต้องการปลูก ยังมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจว่าสามารถปลูกได้หรือไม่ จึงได้ทำแปลงทดลองที่สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี 2554 โดยได้นำยอดพันธุ์มาต่อกับต้นตอเดิมที่มีอยู่แล้ว อายุประมาณ 5 ปี (ระยะปลูก 1x4 เมตร) ซึ่งพันธุ์ที่นำมาทดลอง ได้แก่

พันธุ์ 

"บิวตี้ซีดเลสส์", 
"เฟลมซีดเลสส์", 
"เพอร์เร็ท" (Perlette), 
"เคียวโฮะ" (Kyoho), 
"พลานอร่า" (Planora) และ
องุ่นทำไวน์ อีก 2 สายพันธุ์ 

รวม 8 สายพันธุ์ 

โดยมีการจัดการกิ่งและตัดแต่งกิ่งแบบที่ให้ผลผลิตเรียงเป็นระเบียบคล้ายกับก้างปลา จึงเรียกวิธีการจัดกิ่ง "แบบก้างปลา" ซึ่งมีผลทำให้องุ่นออกดอก ติดผล และคุณภาพดี

ภายหลังจากทดสอบที่สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนเป็นที่แน่ใจว่า องุ่นสามารถให้ผลผลิตได้ดีถึงแม้ว่าปลูกในพื้นที่ราบ เมื่อนำเทคนิคการจัดการกิ่งแบบประณีตเข้ามาใช้ ทำให้สามารถผลิตองุ่นได้ดีขึ้นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ

องุ่นที่ปลูกเน้นขึ้นค้างเพื่อการจัดกิ่งบนค้างให้ง่ายต่อการตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาโดยจัดกิ่งรูปตัวเอช (H) ซึ่งต่างจากระบบที่ทำกันทั่วไปแบบรูปตัวเอ็กซ์ (X) และทำให้ผลผลิตต่อต้นสูงและสม่ำเสมอในทุกๆ ปี โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 ครั้ง ต่อปี รวมถึงย่นระยะเวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวสั้นลงโดยใช้ต้นตอที่แข็งแรงและปลอดโรค ตลอดจนลดการใช้สารเคมีป้องกันโรคและแมลง โดยการสร้างโรงเรือนพลาสติกป้องกันหมอกและฝน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดและแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มความหวานให้สูงขึ้นในช่วงผลผลิตออกในฤดูฝนโดยใช้ต้นตอที่มีระบบรากที่ไม่แข็งแรงมาก

ส่วนขั้นตอนของการปลูก เริ่มจากจัดทำโรงเรือนพลาสติกและทำค้าง เพื่อป้องกันหมอกและฝนที่เป็นสาเหตุในการแพร่ระบาดของโรค สามารถลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงได้มาก ซึ่งการทำโรงเรือนพลาสติกสามารถทำแบบดี โดยมีการระบายอากาศและปิดข้างด้วยตาข่ายป้องกันแมลงและนกได้ แต่ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น หรือทำแบบอย่างง่ายเพื่อลดต้นทุนโดยการคุมพลาสติกเฉพาะด้านบน ส่วนด้านข้างเปิดโล่ง 

ส่วนการทำค้างสามารถใช้ลวดขึงบนโครงสร้างของโรงพลาสติกได้ โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างของค้างภายในโรงเรือนหรือโรงพลาสติกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ การขึงลวดทำค้างให้มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 180 เซนติเมตร และมีความกว้าง 3.5-4 เมตร เพื่อง่ายในการจัดการดูแลรักษาและการจัดกิ่งบนค้าง โดยขึงลวดในแนวยาว เพียงด้านเดียวจากหัวแปลงไปถึงท้ายแปลง มีระยะห่างของลวดประมาณ 25-30 เซนติเมตร

จากนั้นเตรียมดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ทดสอบได้อย่างง่ายๆ คือ ขุดหลุมกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และเทน้ำให้เต็มหลุม ถ้าดินมีการระบายดี น้ำจะแห้งอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าดินระบายน้ำไม่ดีหรือดินเหนียว น้ำขังเป็นเวลานาน รากองุ่นก็จะแช่น้ำนาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นองุ่นด้วย ถ้าไม่สามารถเลือกพื้นที่หรือสภาพดินได้ต้องทำระบบร่องระบายน้ำใต้ดิน โดยทำร่องน้ำเล็กๆ ไว้ใต้หลุมปลูกซึ่งเมื่อฝนตกลงมาน้ำจะค่อยๆ ซึมผ่านลงร่องระบายอย่างช้าๆ ทำให้น้ำไม่ขังอยู่ภายในหลุมและดินไม่แห้งเร็วจนเกินไป ซึ่งมีผลเป็นอย่างมากต่อการปลูกและจัดการดูแลรักษาองุ่นในระยะยาว

สำหรับการตัดแต่งกิ่งกระตุ้นการออกดอกและติดผล เพื่อเพิ่มคุณภาพหลังจากจัดกิ่งบนค้างได้สมบูรณ์ และรอจนกระทั่งกิ่งเปลี่ยนสี มีอายุประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งช่วงนี้กิ่งแขนงหรือกิ่งย่อยจะมีการพัฒนาตาดอก โดยกิ่งเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลและตาข้างมีลักษณะนูนกลมในตำแหน่งตาที่ 5-6 ตัดแต่งเพื่อกระตุ้นให้ออกดอกและติดผล โดยตัดแต่งในช่วงตำแหน่งตาที่ 5 หรือ 6 หลังจากตัดแต่งแล้ว เด็ดใบทิ้งเพื่อกระตุ้นให้ตาดอกแตกพร้อมกันทุกกิ่งและสม่ำเสมอ

หลังจากตัดแต่งกิ่งและเด็ดใบเสร็จ ป้ายหรือพ่นสารกระตุ้นการแตกตาดอกให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้มีการแตกตาดอกพร้อมกัน หลังจากนั้น พ่นฮอร์โมนเพื่อยืดช่อดอกและขยายขนาดผลที่ช่อ ซึ่งจะพ่น 2 ครั้ง คือ ช่วงดอกบาน และหลังดอกบาน 10 วัน พร้อมทั้งตัดแต่งผล ครั้งที่ 1 หลังดอกบานประมาณ 10 วัน และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ ยังห่อผลเพื่อให้สีผิวผลองุ่นสีนวล ผลโตขึ้นมีคุณภาพดี จะเริ่มห่อองุ่นในช่วงเปลี่ยนสีหรือหลังดอกบานประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ซึ่งมีอายุการติดผลถึงเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน

สำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 90-120 วัน หลังจากดอกบาน โดยมาตรฐานทั่วไปเฉลี่ยความหวานไม่ต่ำกว่า 16 องศาบริกซ์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ปัญหาเรื่องความหวานต่ำมักพบในช่วงฤดูฝนซึ่งต้องงดน้ำก่อนเก็บประมาณ 2 สัปดาห์ และพ่นปุ๋ย 0-0-60 หรือบอริกแอซิด ทางใบ 4 และ 2 สัปดาห์ ก่อนเก็บ จะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของยอดอ่อนและช่วยเพิ่มความหวานสูงขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจเทคนิคการผลิตองุ่นแบบประณีต เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตองุ่น ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. ชินพันธ์ ธนารุจ โทร. (089) 264-2853, (083) 863-4458

2 ความคิดเห็น: