ญี่ปุ่นผลไม้มีค่าดั่งทองคำ "เมลอน"ลูกละ"เกือบ 7,000" ทำไมเขาจึงขายได้?

18.3.55









โดยมติชน เมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.

การมอบผลไม้เป็นของกำนัล ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมทำกันทั่วไปในญี่ปุ่น แต่มีผลไม้อีกประเภทที่เราไม่สามารถพบเห็นได้ตามแผงค้าผลไม้ตามตลาดสดทั่วไป เนื่องจากมันได้รับการเพาะปลูกและดูแลอย่างเป็นพิเศษ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ราคาของมันจึงสูงลิบลิ่ว จนชาวบ้านอย่างเราๆได้แต่มองตาปริบๆ

ที่ร้านจำหน่ายผลไม้ "เซ็มบิกิยา" ในย่านใจกลางกรุงโตเกียว หนึ่งในเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก เสียงเพลงคลาสสิกเปิดคลอเบาๆ ไปพร้อมกับพนักงานในชุดเครื่องแบบสุภาพเรียบร้อย คอยดูแลเอาใจใส่ลูกค้าคนสำคัญที่กำลังเลือกซื้อผลไม้ ท่ามกลางบรรยากาศที่โอ่โถง การตกแต่งที่ดูสบายตา

ยูชิโอะ โอชิมา เจ้าของร้านผลไม้วีไอพี เดินตรวจตราในร้านด้วยความใส่ใจ เขาถือเป็นคนรุ่นที่ 6 ของตระกูล ที่สืบทอดธุรกิจจำหน่ายผลไม้มานานกว่า 130 ปี หรือย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ที่การจำหน่ายผลไม้ยังคงเป็นรูปแบบดั้งเดิม คือการกองตั้งสูงๆและจำหน่ายในราคาย่อมเยา

กระทั่งภรรยาของเจ้าของร้านรุ่นที่ 2 เล็งเห็นว่า น่าจะมีการปรับปรุงรูปแบบในการดำเนินธุรกิจเสียใหม่ เพื่อเปลี่ยนผลไม้ให้กลายเป็นเงินอย่างแท้จริง และนับตั้งแต่นั้น กระทั่งปัจจุบัน ที่นี่ได้กลายเป็นร้านจำหน่ายผลไม้ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยที่ไม่มีใครคิดต่อกร

แอปเปิลแดงสดเสมอกันลูกโตๆ ไร้รอยตำหนิให้รกตา ขนาดเท่าศีรษะของทารก ถูกตั้งราคาไว้ที่ 2,100 เยน (ประมาณ 777 บาท) "ต่อลูก" มิใช่ต่อถุงอย่างที่เราเคยซื้อกัน

ขณะที่"สตรอว์เบอร์รีราชินี"ขนาดคัดพิเศษของร้าน วางจำหน่ายในแพ็คเกจขนาด 12 ลูกพอดิบพอดี โดยตั้งราคาไว้ที่ 6,825 เยน (ประมาณ 2,525 บาท) แม้ในวันธรรมดาที่ยอดขายปกติก็สามารถขายได้ถึง 50 กล่อง หรือถ้าสนใจแตงเมลอนญี่ปุ่น ที่ถูกคัดมาอย่างดี แต่ละลูกกลมกลึงได้สัดส่วนไร้ที่ติ ร้านก็มีจำหน่ายในราคา 18,900 เยนต่อลูก (ประมาณ 6,993 บาท)

โอชิมาเผยว่า ร้านของเขาเชี่ยวชาญในการคัดเลือกผลไม้เพื่อนำมาเป็นของกำนัล ซึ่งแน่นอนว่าทุกลูกต้องอยู่ในสภาพที่ไร้ที่ติ และสภาพภายนอกถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกเหนือการให้บริการที่ดี ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมลูกค้าจึงต้องจ่ายเงินในราคาสูง

โดยทั่วไป ครอบครัวชาวญี่ปุ่นทั่วไปมักมอบของกำนัลกัน 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกในช่วงฤดูร้อน และอีกครั้งในฤดูหนาว แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่แท้จริงอาจมากกว่านั้น บางครั้งเพื่อเป็นการแสดงความมีไมตรีจิต เช่น เจ้าของธุรกิจมักส่งของกำนัลให้แก่ลูกค้าหรือคู่ค้า

นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสเดินทางไปโตเกียว มักรู้สึกประหลาดใจต่อการจัดวาง และราคาของสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต ผลไม้ที่มีรูปร่างบิดเบี้ยว มีตำหนิ จะไม่มีวันได้เผยโฉมตามชั้นสินค้า องุ่นมาในพวงแน่นๆและถุกตัดแต่งมาอย่างดี ขณะที่ผลไม้ประเภทอื่น ดูดีและสมบูรณ์ รสชาติหวานหอมไร้ที่ติ กระทั่งลูกค้าหลายคนคิดว่ามันอาจเป็นของปลอม

ในย่านใจกลางกรุงโตเกียว แอปเปิลธรรมดาๆ อาจมีราคาอยู่ที่ราว 60 บาทหรือมากกว่านั้น ฮิโรโกะ อิชิกาว่า เจ้าของธุรกิจกระจายสินค้าเผยว่า ผลไม้ยังคงเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ซึ่งแตกต่างจากผัก ซึ่งเป็นอาหารที่เราจำเป็นต้องรับประทานทุกวัน แต่ผลไม้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเช่นนั้น ซึ่งเหมือนกับเราซื้อของบางอย่างเพราะมันดูดี เธอกล่าวว่าเรื่องเช่นนี้อาจมีเฉพาะในญี่ปุ่น เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญมากกว่าชาติใดๆ

ที่จังหวัดชิซุโอกะ ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้โดยทางรถไฟประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เป็นพื้นที่ปลูกแตงเมลอนที่ดีที่สุดในประเทศ ที่นี่ เกษตรกรกว่า 600 ราย ทราบดีว่าจะปลูกอย่างไรให้แตงออกมาดีที่สุด แม้ในยามที่พื้นดินเต็มไปด้วยหิมะ

มาซาโอมิ ซูซุกิ ทำงานในฟาร์มแบบปิดมานานกว่า 50 ปี แม้กระนั้น เขากล่าวว่า เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในการปลูกแตงทุกวัน กระบวนการทั้หมดเริ่มต้นด้วยเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมการเกษตรในท้องถิ่น ซึ่งทำการวิจัยเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆทุกปี เมล็ดพันธุ์ที่ไร้คุณภาพจะถูกคัดออก

เมื่อลำต้นเติบโตขึ้นและเริ่มออกผลเล็กๆ แต่ละต้นจะถูกตกแต่งให้เหลือเพียงต้นละผล เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ การตัดเล็มเป็นไปด้วยความระมัดระวัง กระทั่งลำต้นเรียงเป็นแถวเสมอกัน และได้ผลเมลอนเรียงเป็นแถวสวยงาม พร้อมทั้งไม้ค้ำเพื่อไม่ให้ผลถ่วงลำต้น เมื่อผลโตได้ที่ ซูซุกิจะใช้หมวกพลาสติกเพื่อห่อผลเพื่อป้องกันแสงแดด

เขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีการดูแลเอาใจใส่ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับฟาร์มเมลอนอื่นๆทั่วประเทศ ขณะที่ฟาร์มอื่นอาจใช้วิธีการดูแลที่ต่างกันไป และปล่อยให้มีเมลอนหลายผลต่อหนึ่งต้น และเรียกชื่อวิธีการดังกล่าวตามนามสกุลของตนเองว่า "วิธีซูซุกิ" ผลที่ได้ก็คือ เมลอนที่มีสีเขียวอ่อน ผิวที่เสมอกันไร้ที่ติ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ก้าน ที่จะต้องเป็นรูปตัวที จึงจะเป็นแตงที่สมบูรณ์ที่สุด และแม้ว่าเขาจะใช้ความพยายามมากเพียงใด ก็พบว่า ผลผลิตที่มีความสมบูรณ์ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลผลิตทั้งหมดเท่านั้น

การปลูกแตงเมลอนเพื่อตอบสนองตลาดญี่ปุ่นเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการลงทุนลงแรงที่สูง โดยที่ฟาร์มของซูซุกิ ซึ่งเป็นฟาร์มแบบเรือนกระจกขนาดกลาง 3 หลัง ต้องใช้น้ำมันกว่าวันละ 55 ลิตร เพื่อรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ไม่ว่าพระอาทิตย์จะแรง ฝนตก หิมะตก หรือลมแรง ตลอด 24 ชม. ปีละ 365 วัน

เขากล่าวว่า ครอบครัวของเขาไม่ได้ออกไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันมานานมากแล้ว เนื่องจากจะต้องมีบางคนที่ต้องออกไปดูแลฟาร์ม หากเกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกระทันหัน เพราะแค่ช่วงพริบตาเดียว ผลผลิตทั้งหมดอาจได้รับความเสียหาย

และไม่น่าแปลกใจ เมื่อซูซุกิปฏิเสธว่า แตงเมลอนราคาลูกละ 3,000 บาท ไม่ใช่สิ่งที่ดูเกินเลยแต่อย่างใด !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น