ผ่ากลยุทธ์โรงสี "เกริก" ครบเครื่องเรื่อง..."ข้าวญี่ปุ่น"

25.10.57
 
updated: 20 ม.ค. 2557 เวลา 16:30:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมนูข้าวปั้นหรือซูชิชนิดต่าง ๆ ที่วางขายทั้งในภัตตาคารหรูและร้านอาหารทั่วไป วัตถุดิบสำคัญก็คือข้าวญี่ปุ่นนั่นเอง

ปัจจุบันประเทศไทย สามารถที่จะปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นสำหรับบริโภคภายในประเทศได้แล้วจำนวนหนึ่ง และยังสามารถเปิดตลาดส่งออกไปยังไต้หวัน เกาหลีได้อีกด้วย

แต่...ใช่ว่าเราจะปลูกข้าวญี่ปุ่นกันได้ทุกที่ทุกฤดู เพราะพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะตัว และต้นทุนค่อนข้างสูง แหล่งที่มีการปลูกและได้ผลผลิตดียังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก เพราะมีสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงญี่ปุ่น อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา

"สุทิน กองทอง" ประธานชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย และเจ้าของโรงสีเกริก ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่หมู่ 12 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงรายบอกว่า โรงสีเกริกทำธุรกิจค้าข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวหอมนิล เพื่อจำหน่ายในประเทศ และผลิตข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวดำปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก โดยผ่านบริษัทส่งออกต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2545

และได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจข้าวญี่ปุ่นอย่างจริงจังเมื่อปี 2550 เนื่องจากความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาดข้าวญี่ปุ่นในเมืองไทยมีความต้องการประมาณ 8,000-10,000 ตันต่อปี ซึ่งการผลิตยังไม่พอกับความต้องการของตลาดในบางช่วงเวลา เช่น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์, มีนาคม และเมษายนของทุกปี

ในส่วนของผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้น เมื่อก่อนมีเพียง 3-4 ราย แต่ตอนนี้มีประมาณ 11 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา และลำพูน ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะมีคู่ค้าของตนเองอยู่แล้ว

ล่าสุดนี้ได้มีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็น "ชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย" โดยอยู่ระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและการตลาดร่วมกันรับการเปิดเออีซี เพราะตั้งแต่ต้นปี 2556 เริ่มมีผู้นำเข้าข้าวญี่ปุ่นจากประเทศเวียดนามเข้ามาตีตลาด ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่าข้าวญี่ปุ่นที่ผลิตในเมืองไทย แต่ราคาค่อนข้างต่ำ ทำให้การแข่งขันในตลาดกลางและล่างรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตลาดล่าง (ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป, ร้านข้าวปั้นซูชิ) ได้หันมาใช้ข้าวญี่ปุ่นจากเวียดนามมากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดในบางช่วง

ในฐานะผู้คร่ำหวอดกว่า 30 ปีในวงการผลิตและค้าข้าวมาตั้งแต่ปี 2526 จากพนักงานส่งออกข้าว กระทั่งผันตัวเองมาเป็นเจ้าของกิจการโรงสีข้าว โดยเป็นลูกค้าอีกรายที่ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

"สุทิน" ให้ความรู้ว่า พันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ 1.พันธุ์ซาซานิชิกิ (Sasanishiki) เมล็ดป้อมสั้น เหนียว ไม่ร่วน ซึ่งนิยมนำไปทำข้าวปั้นหรือซูชิ และ 2.พันธุ์อะคิตะโคมาชิ (Akitakomashi) สามารถปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี

"การปลูกข้าวญี่ปุ่นผมบอกได้เลยว่าปราบเซียน ถ้าทำสเกลใหญ่จะลำบากมากพอเกี่ยวข้าวแล้วจะต้องรีบอบหรือตากให้แห้งภายใน 24 ชั่วโมง การปลูกจะต้องดูแลละเอียดยิบปัญหาโรคและแมลงก็เยอะ ต้นทุนก็สูง ตอนนี้อากาศบ้านเราแปรปรวน ในแง่การผลิตยากมาก ก่อนหน้านี้เคยมีนักการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่เคยทำในสเกลใหญ่มาแล้วรับมือไม่ไหว จึงล้มเลิกกิจการไปแล้ว"

ทั้งนี้ จุดแข็งของโรงสีเกริก คือ ใช้วิธีทำนาแบบครบวงจร (Contract Farming) โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ปุ๋ย-ยา และมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้กับเกษตรกร รวมทั้งประกันราคารับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด

ปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4 พันไร่ เกษตรกร 500-600 ราย กำลังการผลิตรวม 1,500-2,000 ตันข้าวสารต่อปี ซึ่งเกษตรกรที่มีความรู้ดีแล้วจะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 800-1,200 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 600-700 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40-42 บาท/กิโลกรัม

การตลาดส่วนใหญ่ใช้วิธีขายส่งภายในประเทศ และอีกประมาณร้อยละ 5 ส่งออกผ่านโบรกเกอร์นำไปทำข้าวถุงส่งห้างโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี, แม็คโคร ภายใต้แบรนด์ของผู้ซื้อในกรุงเทพฯ มียอดขายปีละประมาณ 60-80 ล้านตัน

สำหรับผลประกอบการในภาพรวมประมาณ 120 ล้านบาท โดยมียอดขายข้าวญี่ปุ่น 60-80 ล้านบาท

แม่ทัพโรงสีเกริกบอกว่า ตอนนี้เรื่องแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนที่ทำนาอายุ 40 ปีอัพทั้งนั้น จึงต้องหาวิธีการลดต้นทุนและเร่งคุณภาพให้ดีขึ้น เพื่อเป็นจุดแข็งให้กับสมาชิก ซึ่งพยายามจะไปเอาเทคนิคการเพาะปลูกมาจากภาคกลางทั้งวิธีทำนาโยน นาหยอด นาหว่าน เพื่อมาทดแทนนาดำ เพราะแนวโน้มแรงงานมีแต่จะหมดไปเรื่อย ๆ

ที่สำคัญในตอนนี้กำลังเฟ้นและบ่มเพาะเกษตรกรพันธุ์ใหม่ "หัวไว ใจสู้" เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการปลูกข้าวญี่ปุ่นให้มีคุณภาพ และเป็นครูสอนเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดธุรกิจโดยนำรำข้าวหอมนิลและข้าวญี่ปุ่นมาสกัดเย็น เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม/บำรุงผิว เช่น สบู่ ซีรั่ม และอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ถาดทอง ซึ่งรำข้าวญี่ปุ่นมีวิตามินอีสูงมากถึง 4 เท่าของข้าวหอมมะลิ

ความครบเครื่อง ครบวงจรเช่นนี้ ต้องยกให้โรงสีเกริกแห่งเมืองเชียงราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น