นวัตกรรมเพื่อการเพาะปลูกรางวัล 'บิล เกตส์'

15.1.57



โดยวอยซ์ทีวี เมื่อ 16 ม.ค.2557

นักประดิษฐ์ชาวบราซิล พัฒนาระบบเพาะเมล็ดพืชแนวใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และเหมาะแก่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยนวัตกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ "บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์" ท่ามกลางความหวังในการยกระดับการเพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นวัตกรรมนี้มีความพิเศษอย่างไร

เมล็ดพันธุ์พืชจำนวนมาก ถูกนำมาเทกองรวมกันในห้องทดลองของผู้ประกอบการชาวบราซิล ก่อนนำไปดัดแปลง และปรับใช้กับระบบเพาะปลูกพืชแนวใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการเกษตร โดยเฉพาะการทำฟาร์มขนาดเล็กทั่วโลกในอนาคต


นวัตกรรมดังกล่าวมีระบบการทำงานเรียบง่าย เพียงแค่นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เตรียมไว้ มาจัดวางเรียงกันบน

เทปเซลลูโลส

ในระยะห่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด

จากนั้น เกษตรกรสามารถนำเทปเซลลูโลสนี้ไปฝังกลบบนแปลงเพาะปลูกได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรให้สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

นายมัทเธอุส มาร์ราฟอน นักปฐพีวิทยา และผู้ประกอบการวัย 29 ปี 

ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้ เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าว คือ การจัดวางระยะห่างของเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสม ทำให้พืชสามารถเจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่หลังเติบโตออกมาเป็นต้นแล้ว


สิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นนี้ มาจากแรงบันดาลใจในการช่วยมารดาทำฟาร์มขนาดเล็กของครอบครัว ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาเรื่องการใช้เครื่องจักร และทำให้การเพาะเมล็ดมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แผ่นเซลลูโลสที่ใช้ยังมีคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำ และความชื้น ทำให้เมล็ดพืชเติบโตได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชกัดกินเมล็ด และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายมาร์ราฟอนระบุว่า นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ จะทำให้อัตราความสำเร็จในการเพาะเมล็ดพันธุ์มีมากขึ้น และจะทำให้ผลผลิตของฟาร์มขนาดเล็ก และฟาร์มแบบครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้มากถึงร้อยละ 50

นวัตกรรมนี้ได้รับการคัดเลือกจาก

มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ 

เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสนดอลลาร์ หรือกว่า 3 ล้านบาท ท่ามกลางสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่ยื่นขอเงินทุนจากมูลนิธิทั้งหมด 2,700 ราย ขณะที่นายมาร์ราฟอน เปิดเผยว่า เขาจะใช้เงินที่ได้เพื่อนำนวัตกรรมของเขาไปปรับปรุง และทดลองใช้กับสถานที่จริงในทวีปแอฟริกา

ขณะเดียวกัน หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยเศรษฐีใจบุญผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ยังมีแผนมอบเงินก้อนใหม่ให้เขา เพื่อนำไปใช้ปรับปรุง และพัฒนาดีไซน์ในขั้นตอนต่อไปอีกเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30 ล้านบาท 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น