การปลูกข้าวด้วยต้นกล้าต้นเดียวต่อ 1 กอ

27.1.55
การปลูกข้าวด้วยต้นกล้าต้นเดียวต่อ 1 กอ 

System of Rice Intensification (SRI: เอส อาร์ ไอ)

(กรกฎาคม. 2548)

วัตถุประสงค์

1. เพื่อการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่

2. เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

3. เพื่อคัดเลือก และผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้วยการปลูกแบบข้าวกล้องต้นเดียว

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

1. เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ คือ อวบ ใส และมีตาข้าว

2. แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำประมาณ 12-24 ชั่วโมง ในน้ำอุ่น 30-40 องศาเซลเซียสจะดีที่สุด หากต้องการป้องกันโรคหรือแมลงไว้ล่วงหน้า เช่น โรคบั่ว ควร นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำเกลือ หรือ น้ำสะเดา ไว้ 1 คืน

3. นำเมล็ดพันธุ์ผึ่งลมให้แห้ง

หมายเหตุ : เนื้อที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

การเตรียมแปลงเพาะกล้า

เลือกแปลงเพาะกล้าใกล้แปลงที่จะปลูกข้าว ทำแปลงเพาะกล้าให้เหมือนแปลงผัก โดยผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อให้ดินร่วนซุย เอาฟางคลุมพื้นที่แปลงไว้ จากนั้นรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นในช่วงเช้า-เย็น (ไม่ควรรดน้ำในขณะที่แดดร้อนจัด) ความชื้นในแปลงควรเหมาะสม ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงโดยการทำทางระบายน้ำเล็กๆเพื่อให้น้ำไหลออก

หรืออีกวิธีหนึ่งที่จะสะดวกต่อการขนย้ายต้นกล้า คือการเพาะเมล็ดในกระบะ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการขนย้ายแล้วยังช่วยทะนุถนอมต้นกล้าขณะเวลาปักดำ

การเตรียมแปลงปักดำ

หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรไถกลบตอซัง แล้วบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลูกพืชหลังนา เช่น โสนอัฟริกัน หรือจะทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หว่านในนาก็ได้ ก่อนปักดำควรปรับที่นาให้ได้ระดับเดียวกัน และทำร่องน้ำตามขอบคันนาเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก สูบน้ำเข้าแปลงนาให้ดินเป็นโคลนเหนียวข้น ไม่ควรปล่อยให้ดินเละหรือมีน้ำท่วมขัง

การขนย้ายต้นกล้าออกจากแปลงเพาะ

1. ถอนกล้าเมื่อมีอายุ 8-12 วัน (มีใบ 2 ใบเท่านั้น) อย่างระมัดระวัง ให้ต้นกล้ากระทบกระเทือนน้อยที่สุด

2. ถอนต้นกล้าเบาๆตรงโคนต้น ใช้เครื่องมือเล็กๆ เช่น เกรียง หรือเสียม ขุดให้ลึกถึงใต้ราก ควรระวังอย่าให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์และให้มีดินเกาะรากไว้บ้าง

3.ระหว่างการย้ายกล้าต้องทำอย่างเบามือ ไม่ควรทิ้งกล้าไว้กลางแดดและรีบนำกล้าไปปักดำทันที (ภายใน 15-30 นาที)

การปักดำ

นำต้นกล้ามาปักดำอย่างเบามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ 1 เซนติเมตร

ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรเท่าๆกัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ควรปักดำในระยะห่าง 30 x 30 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ 40 x 40 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่)

การบำรุงดูแลรักษา

การจัดการน้ำ

- แปลงเพาะปลูกควรปรับให้เรียบสม่ำเสมอ และทำร่องน้ำเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก

- แปลงปักดำไม่ควรมีน้ำท่วมขัง เพียงแต่ทำให้ดินเป็นโคลนเท่านั้น

- ขณะที่ข้าวแตกหน่อ (1-2 เดือนหลังปักดำ) ปล่อยน้ำเข้านาให้สูง 2 เซนติเมตรทุกๆเช้า แล้วปล่อยน้ำออกในช่วงบ่าย หรือสามารถปล่อยทิ้งให้นาแห้งประมาณ 2-6 วัน -เมื่อข้าวแตกกอ ปล่อยให้แปลงข้าวแห้งลงไปในเนื้อดิน ไม่ต้องกังวลหากหน้าดินจะเป็นรอยแตกบนผิวโคลน

- ขณะที่ข้าวตั้งท้องจนเริ่มออกรวง ปล่อยให้น้ำท่วมสูงประมาณ 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น

- ทันทีที่ต้นข้าวเริ่มลู่ลง เพราะน้ำหนักของเมล็ดข้าว ให้ปล่อยน้ำออกจากนาจนกว่าจะแห้งและถึงเวลาเก็บเกี่ยว

การกำจัดวัชพืช

ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าว 10 วัน 
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุข้าว 25-30 วัน 
ครั้งที่ 3 เมื่ออายุข้าว 50-60 วัน 

ทั้งนี้การกำจัดวัชพืช สามารถใช้เครื่องมือทุ่นแรง ทางที่เหมาะสมและดีที่สุดจึงเป็นการถอนด้วยมือนั่นเอง

นอกจากนี้การจัดน้ำเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ หรือเอาฟางคลุมแปลงจะช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี

สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่

ทำได้โดยการเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว แต่เมื่อข้าวออกรวงจะต้องห้ามเป็ดเข้านาโดยเด็ดข้าว หรือทำน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น 1-2 ครั้งก็เพียงพอ

สำหรับวิธีการป้องกันนก

ทำได้โดยการขึงเชือกเทปล้อมรอบแปลงนา เมื่อลมพัดจะทำให้เกิดเสียงดัง แล้วนกจะไม่มารบกวน
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวนาในญี่ปุ่น และมาดากัสการ์ใช้กัน เรียกว่า คราดหมุน ซึ่งในขณะที่ไถทับวัชพืช จะเป็นการพรวนดินไปในตัว ช่วยเพิ่มอากาศในดิน ส่วนซากวัชพืชจะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นข้าวอย่างดี แต่เมื่อทดลองไถพรวนใช้กับดินทางภาคอีสาน นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากดินเป็นดินทราย

เหตุใด ปลูกข้าวต้นเดียวจึงได้ผลผลิตดีกว่า

1. การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว

2. ต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก

3. การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น

4. การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว

5. การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่

การจัดการน้ำ

1. การปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร 

2. การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ซากพืชเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น

3. การปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตในน้ำท่วมขัง ทำให้รากต้นข้าวต้องสร้างถุงลมเล็กๆ เพื่อดูดออกซิเจนจากผิวดินทำให้การส่งอาหารไปสู่หน่อและใบถูกรบกวน รากข้าวจะหายใจลำบาก

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ประหยัดเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก

2. ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาแบบปกติ

3. สามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ข้าว แต่หากต้องการผลผลิตสูงควรเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพอากาศ

4. จากประสบการณ์ของเกษตรกร พบว่าหากเป็นนาอินทรีย์ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 60% และในประเทศลาวพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 100%

5. ประหยัดแรงงานในการลงกล้า (ประหยัดต้นทุนในการผลิต)

6. การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอข้าว หรือการควบคุมน้ำเข้า-ออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น