ผลไม้ตระกูล เบอรี่ไทย หลากประโยชน์ช่วยปกป้องหัวใจ

21.7.57
 
โดยเดลินิวส์ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2556

ในปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่า ผลไม้ในกลุ่มของเบอรี่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านม ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันโลหิตในผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้เบอรี่ยังช่วยบำรุงสมองและความจำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง และที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากคือ เบอรี่สามารถต้านชราได้
   
ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อนึกถึงผลไม้ในกลุ่มเบอรี่ทั้งหลาย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่ผลไม้ที่มีชื่อลงท้ายด้วยเบอรี่ เช่น สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ เชอรี่ ราสเบอรี่ แครนเบอรี่ แบล็กเบอรี่ โดยที่จะมองข้ามในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของเรา ซึ่งในประเทศไทยก็มีผลไม้ในกลุ่มเบอรี่อยู่มากมาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยได้มีการนำมาศึกษาวิจัยทดลองให้ผลสนับสนุนแล้วว่ามีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าผลไม้กลุ่มเบอรี่ของต่างประเทศเลย
 
ผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มเบอรี่ที่เป็นผลไม้ไทย ก็ได้แก่ ลูกหว้า เป็นผลไม้ที่เมื่อสุกจะมีผลสีม่วงเข้มจนถึงดำคล้ายองุ่นรสชาติจะออกหวานและมีรสฝาดเล็กน้อย นิยมนำมาทำแปรรูปเป็นน้ำลูกหว้า เยลลี่ และแยม สารที่มีอยู่ในลูกหว้าจะเป็น สารกลุ่มแอนโธไซยานิน (ไซยานิดิน) กรดเอลลาจิก กรดเฟอรูลิก ซึ่งสารกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านฤทธิ์ของสารก่อมะเร็งโดยพบว่า สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านมได้
 
ชนิดต่อมาคือ มะเกี๋ยง พบมากทางตอนเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และน่าน โดยผลจะคล้ายคลึงกันกับลูกหว้า แต่มีขนาดที่เล็กกว่าและมีสีออกม่วงแดง ส่วนรสออกเปรี้ยวมากกว่าลูกหว้า จากการศึกษาพบว่า ผลของมะเกี๋ยง มีสารพฤกษเคมีที่สำคัญอยู่หลายตัว เช่น สารประกอบฟีนอลิก ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ
 
“จากการทดสอบหาค่าของสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในอาหารแต่ละชนิดที่เรียกว่า The ORAC test หรือ Oxygen Radical Absorbance Capacity ซึ่งเป็นค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของอาหาร อาหารที่มีค่า ORAC สูงสามารถปกป้องเซลล์และองค์ประกอบของเซลล์ให้ปลอดภัยจากการถูกทำลายเสียหายจากกระบวนการออกซิเดชัน ซึ่งมะเกี๋ยงเป็นผลไม้ที่มีค่า ORAC สูง ส่งผลให้ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และชะลอความเสื่อมของร่างกาย”
 
มะขามป้อม จัดเป็นผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มเบอรี่เช่นกัน ลักษณะเป็นผลสีเขียว จัดเป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน รสชาติออกเปรี้ยวฝาด ๆ ตามตำราแพทย์พื้นบ้านจะนิยมนำมารักษาอาการไข้หวัด แก้เจ็บคอ ละลายเสมหะ
 
เมื่อศึกษาดูสารที่มีอยู่ในมะขามป้อมแล้วพบว่า มะขามป้อมมีปริมาณของวิตามินซีสูง โดยในผลมะขามป้อม 1 ผลจะมีวิตามินซีมากกว่าส้ม 2 ลูก และยังพบสารพฤกษเคมีอื่น เช่น สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ คูมาริน ที่มีส่วนช่วยในการลดการอักเสบของร่างกาย สามารถช่วยลดการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
 
นอกจากนี้ยังพบว่า การรับประทานมะขามป้อมเป็นประจำจะช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือแอลดีแอล รวมถึง ไตรกลีเซอไรด์ จึงถือว่า เป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และเมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาถึงแนวคิดว่า สารสกัดจากมะขามป้อมจะช่วยลดการเกิดเซลล์มะเร็งโดยสามารถลดการเกิดเซลล์มะเร็งได้แล้วในสัตว์ทดลอง
 
ในส่วนของ ลูกหม่อน ปัจจุบันมีการนำเอาผลมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยผลสุกของลูกหม่อนจะมีสีออกม่วงแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมื่อเปรียบเทียบกับบลูเบอรี่ที่เป็นที่นิยมในเรื่องของสารต้านอนุมูลอิสระแล้วลูกหม่อนของไทยหากเทียบในปริมาณ 100 กรัมเท่ากัน จะพบว่า ลูกหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าบลูเบอรี่ 2-3 เท่า ซึ่งสารที่พบ คือ สารในกลุ่มโพลีฟีนอล แอนโทไซยานิน และเรสเวอราทอล สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง
 
“ลูกหม่อนเป็นผลไม้ที่มีกรดไขมันที่จำเป็น คือ โอลิอิกและไลโนลิอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นสำหรับการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ในระบบประสาทและสมองช่วยให้ความจำดีขึ้น ยังมีการศึกษาว่า สารสกัดจากลูกหม่อนช่วยควบคุมความหิวทำให้ช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังมีการนำเอาใบหม่อนมาทำเป็นชา โดยพบว่า การดื่มชาใบหม่อนเป็นประจำจะช่วยลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้”
 
ผลไม้ไทยชนิดต่อมา คือ มะยม เป็นผลไม้รสเปรี้ยว นิยมนำมารับประทานโดยการนำมาทำตำมะยม ใส่ในน้ำพริกเพื่อให้ออกรสเปรี้ยว และปัจจุบันนิยมนำมาทำเป็นแยมส่งออกต่างประเทศ เพราะมะยมมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น สารในกลุ่มแทนนินที่ช่วยต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ช่วยลดการเกิดการอักเสบในร่างกาย
 
รวมทั้งมีใยอาหารสูงช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติและลดการสะสมของของเสียในลำไส้ ทั้งนี้ เนื่องจากใยอาหารในมะยมมีทั้งชนิดที่ไม่ละลายน้ำและละลายน้ำ โดยใยอาหารที่ละลายน้ำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลจึงช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการใช้มะยมในผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากได้รับประทานมะยมแล้วจะมีอาการดีขึ้น
 
ดร.ฉัตรภา กล่าวต่อว่า มะเม่าหรือหมากเม่า จัดเป็นผลไม้ไทยในตระกูลเบอรี่ที่พบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ ทำไวน์ และแยม มะเม่านอกจากจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงเหมือนกับผลไม้ในตระกูลเบอรี่ทั้งหลายแล้ว มะเม่ายังมีแร่ธาตุเหล็กสูงซึ่งทางตำรายาไทยจะใช้รักษาภาวะโลหิตจางและบำรุงเลือด
 
รวมไปถึง โทงเทงฝรั่งหรือเคพกูสเบอรี่ ผลไม้ขนาดเล็กสีเหลืองทอง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานมีกลิ่นหอมเฉพาะ เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกันกับมะเขือ โดยข้างในผลจะมีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่มากมาย สารอาหารสำคัญที่พบ คือ เบต้าแคโรทีนซึ่งจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายจึงช่วยในเรื่องการมองเห็น ทำให้ผิวพรรณดี นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มไฟโตรสเตอรอลที่ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในร่างกายส่งผลให้ลดระดับคอเลสเตอรอลส่วนเกิน และบริเวณเปลือกของโทงเทงฝรั่งยังมีใยอาหารประ เภทเพคตินที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
 
มาที่ เชอรี่ไทย ผลไม้สีแดงสด รสเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ในหนึ่งลูกจะแบ่งออกเป็น 3 พู นิยมนำมาแปรรูปเป็นไอศกรีม เชอร์เบท แยม สารที่มีอยู่ในเชอรี่ไทย คือ สารในกลุ่มแอนโธไซยานินมีส่วนช่วยในการลดการอับเสบ การเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารกลุ่มแอนโธไซยานินเป็นประจำจะมีอารมณ์ดี และรู้สึกกระปรี้กระ เปร่า ยังมีการใช้เชอรี่ไทยในผู้ที่มีอาการท้องผูกเพื่อเป็นตัวที่ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี
 
ผลไม้เบอรี่ไทยอีกชนิดหนึ่งก็คือ ตะขบ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นง่ายพบได้ทั่วไปในบริเวณทุกภาคของประเทศไทย ตะขบถือว่าเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูงชนิดหนึ่ง โดยใน 100 กรัมหรือประมาณ 25 ผล จะมีใยอาหารมากกว่า 6 กรัม ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอยู่ที่ 25 กรัม การกินตะขบ 1 ถ้วยเท่ากับได้ปริมาณ 1 ใน 4 ของใยอาหารที่แนะนำแล้ว
 
“จากการศึกษาพบว่า ตะขบมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ ตะขบจะมีสารที่ให้สีแดงคือสารไลโคปีน กรดเอลลาจิก แอนโธไซยานิน และกรดแกลลิก ที่ช่วยทำให้ระบบการทำงานของต่อมลูกหมากดีขึ้น ทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วยดูแลหัวใจ นอกจากนี้ แพทย์แผนไทยยังใช้ตะขบในการรักษาอาการไข้ และเป็นยาบำรุงกำลังอีกด้วย”
 
หลังจากที่ได้รู้แล้วว่าประเทศไทยเรามีเบอรี่อยู่หลากหลายชนิด และแต่ละชนิดล้วนมีคุณประโยชน์มากมาย ดังนั้น การหันมารับประทานเบอรี่ไทย จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพดี มีหัวใจที่ดี ในแบบวิถีไทยนั่นเอง.

................................

รูปแบบการรับประทานผลไม้ตระกูลเบอรี่

ในช่วงวัยของคนมีความต้องการอาหารและผลไม้ที่มีประโยชน์ เพื่อเข้าไปช่วยเสริมสร้างให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งผลไม้ตระกูลเบอรี่นับเป็นอีกทางเลือกของผลไม้ที่มีประโยชน์ให้เราได้เลือกรับประทานกันในหลายรูปแบบ
   
โดยการ กินผลไม้ตระกูลเบอรี่ที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุง จะทำให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระลดลง และการกินในรูปของผลไม้หรือแบบตากแห้ง จะทำให้ได้รับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดโรคอ้วนได้ ทางที่ดีควรกินแบบสด ๆ จะได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น