เกษตรกรรุ่นใหม่ แห่ง "วาสนาฟาร์ม" พลิกสวนสองจังหวัด ปลูกแตงญี่ปุ่นขึ้นห้างไทย

1.1.57


 
โดยเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อ 1 ก.ย.2552

แคนตาลูป และเมล่อน สองพืชตระกูลแตงที่กำลังครองความนิยมแซงหน้าแตงไทยไปไกลลิบ บ้างเรียก "แตงเทศ" และ "แตงญี่ปุ่น" เพราะแม้ว่าต้นกำเนิดสายพันธุ์ของแตงเหล่านี้มาจากแอฟริกา แต่ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตจนทั่วโลกให้การยอมรับในความหอมหวานทั้งกลิ่นและรสของเนื้อผลสดชนิดที่หาใครทัดเทียมได้ยาก

แม้ว่าปัจจุบันเกษตรกรไทยจะสามารถเพาะปลูกแตงเหล่านี้ได้ทั่วไปแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ จนเกษตรกรต้องตั้งฉายาว่า "แตงคุณหนู" อีกทั้งไม่สามารถปลูกแตงญี่ปุ่นในฤดูฝนได้ดี ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการส่งผลผลิตสู่ตลาด โดยเฉพาะในตลาดห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำต่างๆ ที่ต้องการความต่อเนื่องและคุณภาพเป็นหลัก จึงสังเกตได้ชัดเจนว่าในช่วงฤดูฝนจะมีแคนตาลูปและเมล่อนจากผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายวางจำหน่ายบนแผง

"ฟาร์ม เฟรช (FARM FRESH)" จัดเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีผลผลิตประจำแผงซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งยังขยายตลาดไปยังคาร์ฟูร์ ท็อปส์ โกลด์เดนเพลส และอาจกล่าวได้ว่าฟาร์ม เฟรช สามารถส่งแคนตาลูปและเมล่อนหลากหลายสายพันธุ์สู่ตลาดกลุ่มนี้ได้มากที่สุดถึง 8 สายพันธุ์ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่ามาจากสวนเมืองหนาวหรือมีปลูกในโรงเรือนอีแว็ปอย่างดี แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เพราะผู้ผลิตตัวจริงคือ "วาสนาฟาร์ม" แหล่งผลิตแตงเทศ แตงญี่ปุ่น พันธุ์ดีจากต่างแดน เจ้าของรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ ในการทำการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 130 ไร่ ในตำบลละโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาบเกี่ยวไปยังพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี (โทร.(081) 994-8868, (081) 801-8845 เป็นสวนแคนตาลูปกลางแจ้งที่ให้ผลผลิตดีไม่น้อยหน้าใคร ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยาและนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย

จากวิศวะกรรมเครื่องกล

สู่เกษตรกรเชิงวิทย์

ทุกผลผลิตของวาสนาฟาร์มเกิดจากความตั้งใจของสามพี่น้อง คือ

คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ 

คุณวาสนา สุพิงค์ และ 

คุณสรชา อรุณโรจน์ศิริ 

มีจุดเริ่มในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ราวปี 2540 ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน จนมาเริ่มจับทิศทางว่าจะปลูกแตงเทศคุณภาพเพื่อทำตลาดเมื่อช่วง 6 ปี ให้หลัง สามารถจับตลาดห้างและซุปเปอร์ชั้นนำได้สำเร็จด้วยยอดจำหน่ายแคนตาลูปและเมล่อนรวม 30 ตัน ต่อเดือน และส่งออกไปประเทศรัสเซียผ่านบริษัทส่งออกอีกราว 10% โดยมีแรงหลักคือ คุณภานุวัฒน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เริ่มจับงานเกษตรจริงจังด้วยวัยไม่ถึง 30 วันนี้ด้วยเพียง 36 ปี เขาก็สามารถก้าวขั้นกลายเป็นหัวหอกสำคัญของฟาร์ม ทั้งที่การศึกษาและสายงานในอดีตห่างไกลเกษตรกรรมโดยสิ้นเชิง

"เดิมทีผมทำงานด้านอุตสาหกรรม จบวิศวกรรมเครื่องกล จากเทคโนโลยีมหานคร แต่เกิดวิกฤต ปี"40 ตอนนั้นไฟแนนซ์ล้มหมด เราจะอยู่ในสาขาเดิมก็ไม่ใช่ จึงต้องมองธุรกิจใหม่ แต่เมื่อมองมาถึงภาคเกษตร ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เกษตรกรที่นั่นรวยกันหมดแล้ว ไต้หวันเกษตรกรรวย ญี่ปุ่นเกษตรกรก็รวย ทำให้เรากลับมาคิดว่า ทำไมเกษตรกรไทยจึงไม่รวย จึงกลายเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากหันมาพัฒนาตนเอง ซึ่งครอบครัวมีพื้นฐานด้านงานเกษตรอยู่บ้างให้ดีที่สุด" คุณภานุวัฒน์ เล่าย้อนความ

เริ่มแรกเขาใช้พื้นที่ 12 ไร่ ที่มีอยู่ปลูกพืชหลายชนิด มีตัวเด่นคือ ผักอินทรีย์ แคนตาลูป เมล่อน และมะละกอเรดมาลาดอร์ ซึ่งปัจจุบันหลายคนเรียกว่า ปักไม้ลาย หรือฮอลแลนด์ คุณภานุวัฒน์ บอกว่า เมื่อได้ศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว มะละกอเหล่านี้ก็คือเรดมาลาดอร์ มาจากเม็กซิโก ซึ่งหาสายพันธุ์แท้ในประเทศไทยได้ยากยิ่ง ประกอบกับมีปัญหาด้านการตลาดเช่นเดียวกับผักอินทรีย์ เขาจึงเลือกที่ทุ่มเทให้กับผลผลิตเพียงชนิดเดียวและจะพัฒนาให้ถึงสุดขั้ว นั่นคือ เมล่อน และแคนตาลูป ซึ่งตอนแรกแบ่งพื้นที่ปลูกไว้เพียง 1 ไร่ ต่อมาจึงค่อยๆ หาสายพันธุ์มาทดลองปลูกจนเพิ่มเป็น 5 ไร่ และกลายเป็น 130 ไร่ ในปัจจุบัน

"จากความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานการใช้องค์ประกอบในเรื่องของเหตุและผลมาก่อน ทำให้เราเข้าถึงหลักของธรรมชาติอย่างแท้จริง จึงสามารถที่จะเข้าใจ เรียนรู้ และปรับปรุงคุณภาพพืชให้ดีออกมาได้ ตำราวิชาการด้านการเกษตรก็มีพื้นฐานจากเหตุและผลทั้งสิ้น เราตั้งสมมติฐานขึ้น หาวิธีแก้และลงมือจริง แต่อาจต้องใช้เวลา อย่างเรื่องโรคและแมลง เราก็เจอปัญหาตั้งแต่ยุคแรก เช่น เพลี้ยไฟ ที่ระบาดมาจากแปลงข้าวใกล้เคียง 

เราก็ต้องแก้โดยหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อหลบหลีกในช่วงฤดูข้าว สร้างบังเกอร์แนวปะทะโรค โดยปลูกให้เป็นป่าถาวร เราต้องแก้ไขและวางแผน รวมถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรต่างๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยเพื่อทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ที่นี่คือ แฟคตอรี่ เป็นเหมือนโรงงานแห่งหนึ่งที่มีการผลิตเป็นระบบ เป็นขั้นตอนตั้งแต่เตรียมแปลงถึงเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตออกมาแต่ละรุ่น และทุกรุ่นจะถูกบันทึกสรุปเป็นไว้ ซึ่งมีรหัสที่จะติดตามไปยังผลผลิตทุกผล ไปสู่ตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้"

มองตลาด นำการผลิต

พบสุดยอด เมล่อน "ไซตามะ"

คุณภานุวัฒน์ ให้เหตุผลที่เลือกพัฒนาแคนตาลูปและเมล่อนให้สุดขั้วว่า เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องมีความรู้ ต้องใช้เทคโนโลยี และค่อนข้างเสี่ยงต่อความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของพืชชนิดนี้ แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าคู่แข่งทางการตลาดจึงมีน้อยไปด้วย ที่สำคัญคือ ผู้ปลูกได้ส่วนใหญ่จะมีผลผลิตเป็นไปตามฤดูกาล คือฤดูร้อน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยจะผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้มวลรวมของผลผลิตกระจุกตัวจนมีราคาถูก ปัญหานี้กลับกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับคุณภานุวัฒน์ต้องหาคำตอบ

"มันก็เป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิดอีกว่า ควรทำอย่างไร ให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี คำตอบที่ได้คือ ต้องพัฒนาเรื่องของสายพันธุ์ ผมทดลองสายพันธุ์ที่นี่มากกว่า 30 ชนิด ซึ่งการทดลองแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าจะให้แม่นยำจริงๆ ก็คือ 3 ปี จึงจะสรุปได้ว่า สามารถปลูกได้ในพื้นที่นี้ได้และสามารถทำตลาดได้ต่อเนื่อง เราพยายามหาสายพันธุ์เองทั้งสายพันธุ์ของไทย ของไต้หวัน และของญี่ปุ่น"

ผลจากความพยายามในการคัดสรรสายพันธุ์แคนตาลูปและเมล่อนที่ดี วาสนาฟาร์มจึงลงตัวที่ผลผลิตคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวน 8 สายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะผลและสีของเนื้อต่างกัน แต่ความหอมหวานไม่มีใครแพ้ใคร โดยคุณภานุวัฒน์ใช้ชื่อสายพันธุ์เป็นชื่อทางการค้า ได้แก่ ออเรนจ์เนต กรีนเนต ( เจแปนนิส มัสค์ เมล่อน เนื้อส้มและเนื้อเขียว) ท็อปซัน ท็อปสตาร์ (แคนตาลูปลูกผสม เนื้อเขียว) สยามโกลด์,ท็อปโกลด์ (แคนตาลูปเนื้อส้มและแคนตาลูปสีทอง เนื้อส้ม)และซันไช่ แอปเปิ้ลเมล่อนหอมหวาน 

ส่วนอีกสายพันธุ์ก็คือ "ไซตามะ" เมล่อนรสเลิศผลกลมสวย สายพันธุ์ดีจากญี่ปุ่น ที่เขาสามารถพัฒนาเทคนิคการปลูกในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากสวนที่ได้รับรางวัลสุดยอด OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จากกรมพัฒนาชุมชน แต่กว่าจะได้สายพันธุ์นี้ผู้ผลิตสายพันธุ์ที่ญี่ปุ่นต้องบินข้ามประเทศมาวาสนาฟาร์มถึง 7 ครั้ง เพื่อนำพันธุ์มาให้ทดลองปลูกทั้งหมด 9 สายพันธุ์ แต่สุดท้าย 1 ใน 9 ที่คุณภานุวัฒน์เลือกปลูกก็คือ ไซตามะ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่น แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่น มีการซื้อขายผลสดในราคาสูงถึงผลละ 3,500-4,500 บาท

"ทางมิสเตอร์ฟุคาว่า ผู้ผลิตสายพันธุ์เขาก็สงสัยว่า ทำไม เราจึงเลือกสายพันธุ์นี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะปลูกในอากาศเย็น ขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ เหมาะกับปลูกในบ้านเรามากกว่า คือสายพันธุ์อากาศร้อนชื้น แต่ผมเห็นว่าไซตามะเป็นเมล่อนที่เด่นสุดยอดมาก ทรงผลเป็นทรงกลม ลายนูนสวยงาม สีเนื้อเป็นสีเหลืองอำพัน เนื้อนุ่ม หอมหวาน ซึ่งจากการเราปลูกมามากมายที่ผ่านมายังเทียบไม่ได้ และยังเป็นผลผลิตที่เด่นที่สุดในญี่ปุ่น และเราก็ปลูกได้คุณภาพดีที่สุดด้วย"

คุณภานุวัฒน์ ใช้เวลาพัฒนาการปลูกไซตามะเป็นเวลา 3 ปี จนมีเทคนิคการปลูกซึ่งแตกต่างกับวิธีการปลูกที่ญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของไซตามะเจริญเติบโตในอุณหภูมิเพียง 5 องศา เมื่อนำมาปลูกในที่อุณภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศา เขาจึงต้องพยายามปรับปรุงสภาพให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ซึ่งใกล้เคียงกับแตงญี่ปุ่นสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดพันธุ์จากเมืองหนาวเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ความสมบูรณ์ของดิน การระบายน้ำ ยุทธศาสตร์ฟาร์มที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคและแมลง ที่สำคัญคือเรื่องการจัดการต้น ที่ต้องรวดเร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเก็บดอก เก็บแขนง การเก็บใบ การเลือกผลคงต้นที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมปุ๋ยที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการคำนวณที่เหมาะสมจึงจะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์สู่ผู้บริโภคคนไทย ที่สามารถซื้อหามาลิ้มรสได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 270 บาท ถูกกว่าแตงญี่ปุ่นนำเข้าหลายเท่าตัว

ความน่าสนใจของวาสนาฟาร์ม ยังไม่หมดแค่ผลผลิตพันธุ์ดี แต่แนวคิดการจัดการที่เป็นขั้นตอนและนำหลักเหตุและผลยังเป็นเรื่องที่เกษตรกรทั่วไปสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ปัจจุบันวาสนาฟาร์มจึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญอีกแห่งของพระนครศรีอยุธยาที่คุณภานุวัฒน์มุ่งหมายเผยแพร่วิธีคิดแบบเกษตรกรรุ่นใหม่แก่ผู้อื่น พร้อมเปิดฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อนำความยั่งยืนสู่ชุมชน และคงยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสายพันธุ์แตงญี่ปุ่นสายพันธุ์ดีสู่ผู้บริโภคคนไทย ล่าสุดทดลองปลูก "เมล่อนเลมอน" เมล่อนกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ได้สำเร็จ เตรียมทำตลาดปลายปี และมุ่งนำฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐานระดับสากล

หากท่านใดสนใจดูงานในวาสนาฟาร์ม สามารถติดต่อ คุณภานุวัฒน์ ได้ที่เบอร์ข้างต้น หรือถ้าไม่สะดวกขับรถไปเองทีมเกษตรสัญจรจัดให้มีโปรแกรมเที่ยวเมืองกรุงเก่า ซึ่งจะพาทุกท่านไปพบคุณภานุวัฒน์ตัวจริง พร้อมเลือกชิม เลือกซื้อ ผลผลิตแสนอร่อย ราคากันเอง ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายนนี้ สนใจติดต่อด่วน (รับจำนวนจำกัด)ที่ โทร.(02) 589-2222,( 02) 589-0492, (02) 954-4999 ต่อ 2100 (คุณณัฐสมน) 2101 (คุณญาฑิกานต์) 2102 (คุณวนิดา) และ 2103 (คุณอนุวัฒน์) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น