ชาใบถั่วดาวอินคา

11.11.57
โดยข่าวเที่ยงเกษตร เมื่อ วันที่ 22 ส.ค. 2557 เวลา 11:28 น.

นี่ก็คือต้นถั่วดาวอินคา ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรูกำลังเป็นที่สนใจในอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารเสริม เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอีและกรดโอเมก้า ที่มีประโยชน์ โดยเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนบ้านเจ็ดเนิน อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ได้ทดลองนำมาปลูก และได้ผลดี

ทางกลุ่มฯ  ได้ร่วมกันนำมาใบต้นถั่วดาวอินคา มาผลิตเป็นชาชงดื่ม เพื่อสร้างรายได้ โดยเลือกเก็บใบจากต้นอายุ 6 เดือนขึ้นไป

นำใบถั่วดาวอินคา มาล้างน้ำให้สะอาด 3-4 ครั้ง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำเข้าเครื่องอบจนใบแห้งสนิท โดยใบสด 7 กิโลกรัม อบแห้งแล้ว จะเหลือเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น จากนั้นนำไปบด แล้วบรรจุลงซองชา ก่อนจะใส่บรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ส่งขาย

ทั้งนี้การผลิตชาจากใบถั่วดาวอินคา ทางกลุ่มฯจะรับซื้อจากสมาชิกในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรักษาความสดใหม่อยู่เสมอ

ถั่วดาวอินคา เป็นพืชใหม่ในประเทศไทย ที่เหมาะปลูกเป็นพืชเสริม  แต่เกษตรกรที่สนใจต้องศึกษาการตลาดในท้องถิ่นให้ดีก่อน
                           
สนง.กษอ.เกาะจันทร์ : โทร.038-166-223
Read more ...

นวัตกรรมเพื่อการเพาะปลูกรางวัล 'บิล เกตส์'

1.11.57
โดยวอยซ์ทีวี เมื่อ 15 ม.ค.2557

นักประดิษฐ์ชาวบราซิล พัฒนาระบบเพาะเมล็ดพืชแนวใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และเหมาะแก่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยนวัตกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ "บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์" ท่ามกลางความหวังในการยกระดับการเพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นวัตกรรมนี้มีความพิเศษอย่างไร

เมล็ดพันธุ์พืชจำนวนมาก ถูกนำมาเทกองรวมกันในห้องทดลองของผู้ประกอบการชาวบราซิล ก่อนนำไปดัดแปลง และปรับใช้กับระบบเพาะปลูกพืชแนวใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการเกษตร โดยเฉพาะการทำฟาร์มขนาดเล็กทั่วโลกในอนาคต

นวัตกรรมดังกล่าวมีระบบการทำงานเรียบง่าย เพียงแค่นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เตรียมไว้ มาจัดวางเรียงกันบนเทปเซลลูโลส ในระยะห่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด จากนั้น เกษตรกรสามารถนำเทปเซลลูโลสนี้ไปฝังกลบบนแปลงเพาะปลูกได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรให้สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

นายมัทเธอุส มาร์ราฟอน นักปฐพีวิทยา และผู้ประกอบการวัย 29 ปี ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้ เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าว คือ การจัดวางระยะห่างของเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสม ทำให้พืชสามารถเจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่หลังเติบโตออกมาเป็นต้นแล้ว

สิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นนี้ มาจากแรงบันดาลใจในการช่วยมารดาทำฟาร์มขนาดเล็กของครอบครัว ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาเรื่องการใช้เครื่องจักร และทำให้การเพาะเมล็ดมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แผ่นเซลลูโลสที่ใช้ยังมีคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำ และความชื้น ทำให้เมล็ดพืชเติบโตได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชกัดกินเมล็ด และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายมาร์ราฟอนระบุว่า นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ จะทำให้อัตราความสำเร็จในการเพาะเมล็ดพันธุ์มีมากขึ้น และจะทำให้ผลผลิตของฟาร์มขนาดเล็ก และฟาร์มแบบครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้มากถึงร้อยละ 50

นวัตกรรมนี้ได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสนดอลลาร์ หรือกว่า 3 ล้านบาท ท่ามกลางสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่ยื่นขอเงินทุนจากมูลนิธิทั้งหมด 2,700 ราย ขณะที่นายมาร์ราฟอน เปิดเผยว่า เขาจะใช้เงินที่ได้เพื่อนำนวัตกรรมของเขาไปปรับปรุง และทดลองใช้กับสถานที่จริงในทวีปแอฟริกา

ขณะเดียวกัน หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยเศรษฐีใจบุญผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ยังมีแผนมอบเงินก้อนใหม่ให้เขา เพื่อนำไปใช้ปรับปรุง และพัฒนาดีไซน์ในขั้นตอนต่อไปอีกเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30 ล้านบาท
Read more ...

ชาวสวนกระบี่ชวนผลิต 'กาแฟขี้ชะมด' ราคากระฉูด

1.11.57
โดยไทยรัฐ เมื่อ 2 ก.ค.2557

เกษตรกรใน จ.กระบี่ หันมาผลิต "กาแฟขี้ชะมด" ลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงชะมด หรือตัว "มูสัง" แล้วให้กินเมล็ดกาแฟช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เก็บเมล็ดที่ถ่ายออกมาขาย กก.ละ 2 พัน หรือถ้าสีแล้วคั่วบด ราคาจะสูงถึง 2 หมื่น ชี้อนาคตสดใสแน่

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.57 ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ 

นายพิศิษฐ์ เป็ดทอง อายุ 35 ปี เกษตรกรตำบลดินแดง อ.ลำทับ จ.กระบี่ 

ซึ่งบอกว่า ได้เลี้ยง

ตัวชะมด หรือภาษาใต้เรียกว่า มูสัง ไว้จำนวน 21 ตัว 

สร้างโรงเรือนไว้อย่างดี เพื่อให้ชะมดเหล่านี้กินกาแฟที่จะสุกในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. หลังจากนั้นชะมดจะถ่ายเมล็ดกาแฟออกมาแล้วจึงนำไปตากแห้ง ก่อนที่จะส่งให้พ่อค้าใน

ราคา กก.ละ 2,000 บาท 

แต่ถ้า

ตากแห้งแล้วสีเอาเฉพาะเมล็ดจะขายได้ราคาสูงถึง 3-5 พันบาท 

และหาก

คั่วตามขั้นตอนก่อนบดละเอียดก็จะมีราคาสูงไปอีกถึง กก.ละ 2 หมื่นบาท 

โดยทางสมาคมผู้ปลูกกาแฟขี้ชะมดจะรับซื้อนำไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในตำบลดินแดง อ.ลำทับ เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟใหญ่สุดในจังหวัดกระบี่ โดยครอบครัวตนปลูกกาแฟเนื้อที่ 10 ไร่ แต่ระยะหลังกาแฟราคาถูกเหลือ กก.ละ 40 กว่าบาท ทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุน ชาวบ้านจำนวนมากจึงได้โค่นต้นกาแฟแล้วหันมาปลูกยางและปาล์มแทน ส่งผลให้กาแฟเหลือน้อยลง ซึ่งตนเองก็โค่นไปจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องของกาแฟขี้ชะมดเมื่อ 2 ปีก่อนกับเพื่อนที่ จ.ยะลา จึงได้ลองนำชะมดมาเลี้ยง

"ทีแรกก็ทำกรงเลี้ยงไว้บนดิน แล้วให้กินกาแฟ ปรากฏว่าผลที่ได้มีเมล็ดกาแฟที่ผ่านการถ่ายของตัวชะมดไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ถูกเหยียบย่ำจมดินหรือเมล็ดไม่สวย โดยได้แค่ 30 กิโลฯ เท่านั้น แต่ก็ได้ราคาดี กิโลกรัมละ 2 พันบาท 

ปีนี้จึงลงทุนสร้างโรงเรือนและไปดูงานการเลี้ยงชะมด แล้วนำมาปรับใช้กับกรงที่ทำขึ้น จากนั้นก็ได้รับซื้อชะมดตัวเป็นๆ จากเพื่อนบ้านมาเลี้ยงจนมีชะมดรวม 21 ตัว 

โดยปีนี้จะนำกาแฟให้ชะมดกินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป" นายพิศิษฐ์กล่าวและว่า ราคาขายกาแฟขี้ชะมดนั้นถือว่าดีมาก และขณะนี้ทางนักธุรกิจในกระบี่ก็เริ่มสนใจ โดยเฉพาะในย่านท่องเที่ยว ที่มีการสั่งเข้าไปบ้างแล้ว เพื่อที่จะนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ ซึ่งเชื่อว่าอนาคตในกระบี่ จะมีกาแฟชะมดขายเหมือนกับต่างประเทศ.
Read more ...