ปลูกผักในขวด 2 ลิตร

19.1.57
แนะนำการปลูกผักในน้ำ

Read more ...

นวัตกรรมเพื่อการเพาะปลูกรางวัล 'บิล เกตส์'

15.1.57



โดยวอยซ์ทีวี เมื่อ 16 ม.ค.2557

นักประดิษฐ์ชาวบราซิล พัฒนาระบบเพาะเมล็ดพืชแนวใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และเหมาะแก่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยนวัตกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ "บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์" ท่ามกลางความหวังในการยกระดับการเพาะปลูกในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นวัตกรรมนี้มีความพิเศษอย่างไร

เมล็ดพันธุ์พืชจำนวนมาก ถูกนำมาเทกองรวมกันในห้องทดลองของผู้ประกอบการชาวบราซิล ก่อนนำไปดัดแปลง และปรับใช้กับระบบเพาะปลูกพืชแนวใหม่ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการเกษตร โดยเฉพาะการทำฟาร์มขนาดเล็กทั่วโลกในอนาคต


นวัตกรรมดังกล่าวมีระบบการทำงานเรียบง่าย เพียงแค่นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เตรียมไว้ มาจัดวางเรียงกันบน

เทปเซลลูโลส

ในระยะห่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด

จากนั้น เกษตรกรสามารถนำเทปเซลลูโลสนี้ไปฝังกลบบนแปลงเพาะปลูกได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรให้สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

นายมัทเธอุส มาร์ราฟอน นักปฐพีวิทยา และผู้ประกอบการวัย 29 ปี 

ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้ เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าว คือ การจัดวางระยะห่างของเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสม ทำให้พืชสามารถเจริญงอกงามได้อย่างเต็มที่หลังเติบโตออกมาเป็นต้นแล้ว


สิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นนี้ มาจากแรงบันดาลใจในการช่วยมารดาทำฟาร์มขนาดเล็กของครอบครัว ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาเรื่องการใช้เครื่องจักร และทำให้การเพาะเมล็ดมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แผ่นเซลลูโลสที่ใช้ยังมีคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำ และความชื้น ทำให้เมล็ดพืชเติบโตได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชกัดกินเมล็ด และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายมาร์ราฟอนระบุว่า นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ จะทำให้อัตราความสำเร็จในการเพาะเมล็ดพันธุ์มีมากขึ้น และจะทำให้ผลผลิตของฟาร์มขนาดเล็ก และฟาร์มแบบครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้มากถึงร้อยละ 50

นวัตกรรมนี้ได้รับการคัดเลือกจาก

มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ 

เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 1 แสนดอลลาร์ หรือกว่า 3 ล้านบาท ท่ามกลางสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่ยื่นขอเงินทุนจากมูลนิธิทั้งหมด 2,700 ราย ขณะที่นายมาร์ราฟอน เปิดเผยว่า เขาจะใช้เงินที่ได้เพื่อนำนวัตกรรมของเขาไปปรับปรุง และทดลองใช้กับสถานที่จริงในทวีปแอฟริกา

ขณะเดียวกัน หากการทดลองนี้ประสบความสำเร็จ มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยเศรษฐีใจบุญผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ยังมีแผนมอบเงินก้อนใหม่ให้เขา เพื่อนำไปใช้ปรับปรุง และพัฒนาดีไซน์ในขั้นตอนต่อไปอีกเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30 ล้านบาท 
Read more ...

กระทู้ปลูกผักของ ตู้ไฟ007

14.1.57
โดยพันทิพ เมื่อ 15 ม.ค.2557

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/10/J9802240/J9802240.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/10/J9812642/J9812642.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/11/J9956233/J9956233.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/11/J9975099/J9975099.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2010/12/J10017583/J10017583.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2011/01/J10105462/J10105462.html

http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/2011/02/J10285791/J10285791.html
Read more ...

ข้อมูลของ เทปน้ำหยด

13.1.57
ขอนำเสนอเรื่องเทปน้ำหยด

1. เทปน้ำหยด มีหลายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ครับ 16, 18, 20, 22 มิลลิเมตร

โดยทั่วไปเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร จ่ายน้ำให้ได้ประมาณ 1,000 - 1,500 ลิตร ต่อชั่วโมง

2. หัวน้ำหยดในเทป มีหลายรูปแบบ ให้ปริมาณน้ำได้ตั้งแต่ 0.5 - 2 ลิตร

3. ระยะความห่างของหัวน้ำหยด มีตั้งแต่ 10 - 60 ซม.

4. ความหนาของผนังเทป มีตั้งแต่ 0.15, 0.20, 0.25, 0.30, 0.35 มิลลิเมตร

5. ประเภทหัวน้ำหยด มีแบบที่ปรับแรงดัน เพื่อให้ได้น้ำที่สม่ำเสมอในพื้นที่ที่มีความลาดชันแตกต่างกัน และไม่ปรับแรงดัน ส่วนใหญ่เป็นประเภทนี้ครับ

6. ความสม่ำเสมอของปริมาณน้ำคือ % ของปริมาณน้ำที่ออกตลอดทั้งเส้นทั้งหัวแปลงท้ายแปลง โดยทั่วไปต้องไม่น้อยกว่า 90-95 % ตามสเปก

7. แรงดันที่ใช้งาน คือ แรงดันที่ทำให้เทปน้ำหยดทำงงานตามสเปกที่กำหนด ทั่วไปจะมีตั้งแต่ 0.3-1 Bar (1 Bar = 10 เมตร)

ทั้งนี้การเลือกใช้เทปน้ำหยดมีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงหลักๆ คือ

1. พืชที่ปลูก 
2.ประเภทของดิน 
3.ลักษณะพื้นที่(สูงต่ำ) 
4. ความสม่ำเสมอ

1. พืชที่ปลูก พืชผัก ควรใช้ระยะห่าง 10 -20 ซม., พืชไร่ 20 - 60 ซม.

2. ประเภทของดิน ดินทรายควรจะใช้หัวที่ถี่ ดินเหนียวควรจะใช้หัวที่ห่าง

3. ลักษณะพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่ที่มี slope มาก ควรจะมีวางสั้น พื้นที่ราบก็วางได้ตามสเปกของแต่ละยี่ห้อ

ส่วนการคำนวณว่าจะวางเทปยาวเท่าใหร่นั้นมีหลักเปรียบเทียบง่ายๆ เช่น

1. ขนาดแปลงยาว 200 เมตร จะใช้เทปแบบไหนดี เปรียบเทียบเฉพาะปริมาณน้ำ กับระยะห่างนะครับ

เทปน้ำหยด หัวจ่าย 2 ลิตร/ชั่วโมง ระยะห่าง 60 ซม. ใช้มีหัวน้ำหยด 200/0.6= 333.33 หัว ให้ปริมาณน้ำได้ 667 ลิตร/ชั่วโมง

เทปน้ำหยด หัวจ่าย 1 ลิตร/ชั่วโมง ระยะห่าง 30 ซม. ใช้มีหัวน้ำหยด 200/0.3= 666.67 หัว ให้ปริมาณน้ำได้ 667 ลิตร/ชั่วโมง

ทั้งสองแบบให้ปริมาณน้ำที่เท่ากัน ครับ

แต่เรายังไม่ได้พูดถึงความสม่ำเสมอของน้ำที่จะออกนะครับว่าเป็นเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าแต่ละยี่ห้อไม่เท่ากันแน่นอนครับ

เราวางเทปยาวเท่าไหร่ก็ได้ครับ แต่ปริมาณน้ำที่ออกมันจะสม่ำเสมอหรือไม่
Read more ...

เทคนิคการบังคับให้มัลเบอร์รี่(หม่อน)ติดผล การบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล

2.1.57
ปรกติโดยทั่วไปเมื่อต้นหม่อนมีการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นไประยะหนึ่งแล้วก็จะมีการออกดอกติดผล ซึ่งการออกดอกติดผลของหม่อนจะเริ่มมีการแทงช่อดอก ในช่วงต้นฤดูหนาวประมาณต้นเดือนมกราคม จากนั้นก็จะเริ่มสุกในช่วงต้นเดือนมีนาคม จนถึงเดือนเมษายน ปริมาณผลหม่อนที่ได้จะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ขนาดและอายุของต้น นอกจากนั้นหม่อนยังมีการแทงช่อดอกในปริมาณที่เล็กน้อยเมื่อมีการตัดแต่งกิ่งหม่อนในแต่ละครั้งที่มีการตัดกลาง ตัดแขนงในช่วงกลางปี

ปัจจัยในการออกดอกของหม่อน

1. การสะสมความเย็นในระยะการเจริญเติบโตของพืช ทำให้มีผลต่อสรีระวิทยาของพืชเพื่อกระตุ้นการออกดอก หม่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของฮอร์โมนพืชภายในลำต้นหม่อนเพื่อกระตุ้นให้มีการติดดอกออกผล

2. ผลกระทบของช่วงระยะเวลาของแสงที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้มีผลต่อสรีระวิทยาของพืชเพื่อกระตุ้นการออกดอก

3. ความอุดมสมบูรณ์ของต้นหม่อน เป็นการสะสมสารอาหารต่าง ๆ ภายในลำต้นของหม่อนซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อให้ผ่านระยะเวลาการเจริญเติบโตทางลำต้น (vegetative growth) เข้าสู่ระยะของการติดดอกออกผล (reproductive growth)

การเก็บเกี่ยวผลผลิตผลหม่อนโดยวิธีการธรรมชาติและจากผลพลอยได้จากการตัดแต่งกิ่งหม่อนแต่ละครั้งจึงยังให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแปรรูปผลหม่อนด้านต่างๆ ดังนั้นการใช้วิธีการบังคับต้นหม่อนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในปริมาณที่มาก และตามระยะเวลาที่ต้องการ จึงเป็นวิธีการที่น่าจะทำให้การผลิตผลหม่อนออกมาคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการศึกษาในเรื่องการบังคับการติดดอกออกผลของหม่อนกันน้อยมากแต่ขณะนี้กำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง การบังคับการอกดอกของหม่อนมีวิธีการดังนี้ คือ

1. การโน้มกิ่ง-เด็ดยอด-ริดใบ

ในลักษณะการโน้มกิ่งแบบโค้งยอดเข้าหาพื้นดิน วิธีการนี้เหมาะสำหรับการปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 แบบเดิม ที่มีระยะปลูก 0.75 x 2.00 -3.00 เมตร วิธีการบังคับจะทำการตัดต่ำหม่อนตามปกติ ในช่วงต้นฤดูปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตทางลำต้นไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในช่วงนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตใบหม่อนได้ตามปรกติโดยวิธีการเก็บใบ แต่ต้องระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนต่อตาข้างของหม่อน และเมื่ออายุกิ่งหม่อนครบ 6 เดือน ก็เริ่มทำหารริดใบหม่อนที่เหลืออกให้หมด จากนั้นจึงโน้มกิ่งเข้าหากันลักษณะแถวต่อแถว โดยใช้เชือกฟางผูกติดกิ่งหม่อนแถวหนึ่งเข้ากับอีกแถวหนึ่ง ทำให้มองดูเหมือนอุโมงค์ ซึ่งทำให้ความสูงของอุโมงค์สูงประมาณ 1.50 เมตรจากพื้นดิน

ทำการตัดยอดกิ่งหม่อนออกให้หม่อนทุกกิ่งโดยการตัดไม่ให้ล้ำยื่นออกไปจากแนวแถวหม่อนเดิมเพื่อไม่ให้กีดขวางการปฏิบัติงานระหว่างแถวหม่อน หลังจากบังคับทรงพุ่มแล้วปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตตามปรกติ ซึ่งหม่อนจะมีการแตกตาข้างออกมาเกือบทุกตาพร้อมกับมีการแทงช่อดอกออกมาตามบริเวณที่แตกยอกออกมาใหม่ ตาดอกจะเริ่มทยอยบาน ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดตาดอก ซึ่งมีประมาณ 3-6 ตาต่อยอดใหม่ที่ตากออกมา ในลักษณะเช่นนี้หม่อน 1 ต้น จะให้ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 400-500 ผล และให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 300-400 กิโลกรัม

สำหรับหม่อนพันธุ์ บุรีรัมย์ 60 โดยมีระยะเก็บเกี่ยวหลังจากดอกบานประมาณ 60-90 วัน วิธีการเช่นนี้สามารถแบ่งแปลงหม่อนบังคับทรงพุ่มต่างเวลากันเพื่อขยายระยะเวลาการให้ผลผลิตผลหม่อนได้ยาวนานขึ้น โดยสามารถโน้มกิ่งหม่อนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน และ 9 เดือน ก็จะมีผลผลิตผลหม่อนตั้งแต่ เดือนธันวาคม จนถึง เดือนเมษายน ของแต่ละปีแต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีด้วย หากมีปริมาณน้ำฝนมาก ควรยึดระยะเวลาในการโน้มกิ่งให้ช้าลง

2. การโน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม
เป็นวิธีการบังคับทรงพุ่มหม่อนที่ปลูกแบบไม้ผลที่มีระยะปลูก ประมาณ 2 x 2 หรือ 4 x 4 เมตร ขึ้นไป เป็นการปลูกแบบไม่มีการตัดแต่งกิ่งแต่ทำการบังคับให้ทรงพุ่มสูงจากพื้นดิน 1.50 เมตร เมื่อหม่อนแตกกิ่งกระโดงใหม่ขึ้นมาในแต่ละปีก็จะทำการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้นดิน และก่อนจะโน้มกิ่งจะต้องริดใบหม่อนออกให้หมดก่อนพร้อมทั้งตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออกยาวประมาณ 30 เซนติเมตรออกก่อน วิธีการโน้มกิ่งสามารถกระทำได้หลายวิธี คือ

2.1 โดยใช้ลวด หรือเชือกผูกโยงติดไว้กับกิ่งที่อยู่ข้างล่างหรือพื้นดินโดยใช้หลักไม้ไผ่ปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือกหรือลวดไว้

2.2 ใช้ไม้ไผ่ล้อมเป้นคอกไว้สูงจากพื้นดิน ประมาณ 1.50 เมตร แล้วโน้มกิ่งออกมาใช้เชือกผูกมัดติดไว้กับคอกที่ล้อมไว้

2.3 ทำราวเส้นลวดขึงขนานในระหว่างแถวของต้นหม่อนแล้วโน้มกิ่งให้ขนานกับพื้นดิน จากนั้นนำกิ่งหม่อนที่ตัดยอด ริดใบออกแล้วมามัดติดไว้กับราวเส้นลวด วิธีการสามารถเก็บเส้นลวดไว้ใช้งานได้นานหลายปี

ส่วนระยะเวลาขอบการโน้มกิ่งจะอยู่ในช่วง เดือน กันยายน – เดือนมกราคม ในปีถัดไปแล้วแต่ว่าจะเลือกให้หม่อนติดดอกออกผลในช่วงระยะเวลาไหน ซึ่งปกติจะสามารถเก็บเกี่ยวผลหม่อนได้หลังจากทำการโน้มกิ่งประมาณ 60 วัน และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลหม่อน ประมาณ 30 วัน อนึ่งสำหรับหม่อนที่ปลูกในสภาพพื้นที่สูบงที่มีอากาศหนาวเย็นมากการเก็บเกี่ยวและการติดตาดอกออกผลจะช้าออกไปประมาณ 1 เดือน ตามขนาดของความหนาวเย็น
Read more ...

การปลูกมัลเบอร์รี่ (หม่อนผลสด)

2.1.57
การปลูกต้นหม่อนผลสด

ระยะปลูก อาจปลูกเป็นแถว แต่ละต้นห่างกัน 4 เมตร เพื่อเผื่อรัศมีทรงพุ่มไว้อย่างน้อย 2.00 เมตร หรือจะปลูกในแปลงพื้นที่สี่เหลี่ยมด้วยระยะปลูก 4.00 x 4.00 เมตรก็ได้

การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปูนโดโลไมท์หรือปูนขาว ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหลุม และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัมต่อหลุม หรือจะให้แม่นยำต้องใส่ตามค่าการวิเคราะห์ดิน คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วกลบหลุมด้วยหน้าดินให้พูนเล็กน้อย

วิธีการปลูก ขุดดินบนหลุมที่เตรียมไว้ให้ลึกพอประมาณ แล้วนำต้นหม่อนที่เตรียมไว้ด้วยวิธีการต่างๆลงปลูกกลบดินให้แน่น

การบังคับทรงต้น ต้นหม่อนที่ปลูกจากกิ่งชำชนิดล้างราก หรือชนิดชำถุง หรือปลูกด้วยท่อนพันธุ์จากกิ่งพันธุ์โดยตรง เมื่อต้นหม่อนเจริญเติบโตได้ประมาณ 6-12 เดือน จะต้องบังคับทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียงกิ่งเดียวไว้เป็นต้นตอ มีความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร จากพื้นดิน ปล่อยให้หม่อนแตกกิ่งใหม่หลายๆกิ่ง เก็บกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้ตัดทิ้งเพื่อให้ด้านล่างโปร่ง ง่ายต่อการปฏิบัติดูแลรักษาด้านเขตกรรมต่างๆ เช่น การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน การตัดแต่งกิ่งแขนงและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น อนึ่งสำหรับหม่อนที่ปลูกในปีแรกๆ ลำต้นและระบบรากยังเจริญเติบโตไม่มาก อาจจะหักล้มได้ง่าย ดังนั้นจะต้องทำการยึดลำต้นไว้ด้วยไม้ หรือไม้ไผ่ให้แน่นหนา

การใส่ปุ๋ย ในปีที่ 2 ให้ใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ตามการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินเพิ่ม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัมต่อต้น

การให้น้ำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำหม่อนในระยะที่หม่อนติดผลแล้ว (โดยปกติจะมีฝนหลงฤดูหรือฝนชะช่อมะม่วงผ่านเข้ามา จะทำให้ต้นหม่อนแตกตาติดดอก ถ้าไม่มีฝนหลงฤดู หลังโน้มกิ่ง รูดใบ ต้องให้น้ำกระตุ้นการแตกตาแทนน้ำฝน) หากขาดน้ำจะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็ก

การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง เพื่อลดการสะสมโรคและแมลการบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล ใช้วิธีการบังคับต้นหม่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในระยะเวลาที่ต้องการ มีวิธีการดังนี้

1) ทำการโน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม โดยการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้น หรือโน้มลงพื้นดิน รูดใบหม่อนออกให้หมด พร้อมทั้งตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้เชือกผูกโยงติดไว้กับหลักไม้ไผ่ ซึ่งปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือกไว้

2) หลังการโน้มกิ่ง 8-12 วัน ดอกหม่อนจะแตกออกพร้อมใบ จากนั้นจะมีการพัฒนาการของ ผลหม่อน โดยผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว สีชมพู สีแดง และสีม่วงดำ ตามลำดับ โดยใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ผลจะเริ่มแก่และสุก สามารถเก็บไปรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปได้ มีระยะเวลาในการเก็บผลประมาณ 30 วันต่อต้น เพราะผลหม่อนจะทยอยสุก เนื่องจากออกดอกไม่พร้อมกัน

เมื่อต้นหม่อนมีอายุตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไปจะให้ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 1.5-35 กิโลกรัม(ประมาณ 750-1,850 ผลต่อครั้งต่อต้น) เพียงพอต่อการบริโภคผลสดทั้งครอบครัวทุกวัน ตลอดปี ซึ่งร่างกายต้องการวันละ 10-30 ผลเท่านั้น อีกทั้งยังมีผลหม่อนสดไว้แปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิด เช่น น้ำหม่อน แยมหม่อน เชอเบทหม่อน ฯลฯ ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ สำหรับผู้รักสุขภาพทุกท่านที่จะปลูกหม่อนไว้รับประทานเอง หากสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็ติดต่อมาได้ที่กรมหม่อนไหม จตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 089-4476600 ในหรือนอกเวลาราชการก็ยินดีครับ
Read more ...

ปลูกองุ่นบนอพาร์ทเม็นท์

2.1.57

สำหรับกิ่งพันธุ์องุ่นตอใหญ่ติดตาสามสายพันธุ์นี้ผมซื้อมาราคา 330 บาทซื้อที่ ตลาดต้นไม้วันพุธ-พฤหัส ที่จตุจักร เค้าขายราคาประมาณ 400 - 500 บาทไม่แน่นอนแล้วแต่คนขายแต่ผมต่อราคาเอา 

วิธีปลูกก้อไม่ยาก ซื้อดินกับกระถางใบใหญ่(ขอย้ำว่าใบใหญ่) เพราะองุ่นรากเค้าหากินผนผิวดินดังนั้นต้องหากระถางใบใหญ่ที่ปากกระถางต้องกว้างจะลึกหรือตื้นก้อไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่เน้นปากกระถางต้องกว้าง

เมื่อได้กระถางแล้วน้ำดินที่ซื้อมาหรือปรุงดินเองก้อได้พยายามหาปุ๋ยคอกใส่ให้เยอะส่วนผมใช้ดินถุงผสมกับขี้วัว(ดินใบก้ามปู) ใส่เศษอิฐเศษหินลงก้นกระถางนิดหน่อยเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีใส่ดินที่เราผสมแล้วลงไปประมาณ1ใน3ของกระถางแล้วเอากิ่งองุ่นลงปลูกเอาดินใส่กลบกิ่งพันธุ์กดให้แน่นหาหลักมายึดไว้ด้วยกันกระเทือนใส่ดินอย่าให้เต็มกระถางให้อยู่ประมาณ 3ใน4 ของกระถางแล้วรดน้ำให้ชุ่มช่าวนี้รดน้ำวันเว้นวันก้อได้รอให้องุ่นยอดเลื้อยแล้วค่อยรดทุกวันซึ่งองุ่นชอบน้ำมาก 

เมื่อองุ่นยอดเริ่มเลื้อยเราก้อทำค้างให้เค้าเลื้อยส่วนผมอยู่อพาร์ทเมนต์ก้อเลยใช้ลวดขึงเอาแล้วใช้เชือกฟางเป็นสพานให้เค้าไต่ไปจนถึงค้างเส้นลวดที่ผมขึงเอาไว้เมื่อองุ่นไต่ไปจนถึงค้างก้อเด็ดยอดเพื่อให้เค้าแตกยอดเยอะ ๆเมื่อเราเด็ดยอดแล้วเค้าจะแตกยอดเป็นสองยอดเราก้อคอยจัดยอดให้เลื้อยไปตามค้างที่เราทำเอาไว้รอให้ยอดใหม่ยาวได้ประมาณ40-50ซม.ก้อเด็ดใหม่อีกเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ยิ่งมียอดมากยิ่งมีผลผลิตมาก(อย่าลืม) 

เมื่อปลูกองุ่นได้ 8-10 เดือน กิ่งองุ่นเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลก้อเริ่มวิธีการสำหรับให้องุ่นติดลูกช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ย 8-24-24 ซัก 1 กำมือแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ช่วงนี้รดน้ำทุกวัน

เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วประมาณ 15 วัน งดน้ำองุ่น10-15วันรอดูใบองุ่นว่าแห้งกรอบแล้วหรือยังถ้าแห้งแล้วก้อทำการตัดแต่งกิ่งโดยเด็ดใบออกให้หมด ตัดยอดกิ่งที่เป็นสีเขียวออกให้เหลือกิ่งที่เป็นสีน้ำตาดโดยแต่ละกิ่งควรให้มีตากิ่งติดอยู่5-8ตา แล้วน้ำกิ่งและใบที่ตัดไปทิ้งแล้ว

นำดินมาเติมที่กระถางพรวนดินแล้วลดน้ำให้ชุ่มทุกวัน 

อย่าลืมใส่ปุ๋ยคอกด้วนนะครับเค้าชอบซัก 10 วัน เค้าก้อแทงยอดพร้อมดอกแล้วหล่ะครับหลังจากนี้เค้าก้อโตของเค้าเอง 

หลังจากที่เราตัดแต่งกิ่งองุ่นแล้ว เราก้อรดน้ำองุ่นให้ชุ่มใส่ปุ๋ยคอกพรวนดินถ้าดินเหลือน้อยก้อเติมดินลงไปอีกเพื่อไม่ให้รากองุ่นลอย ช่วงนี้ต้องรดน้ำตลอดนะครับหลังจากนี้ ไม่เกิน15 วันองุ่นก้อจะแตกยอดอ่อนพร้อมกับดอก (โดยธรรมชาติองุ่นเมื่อแตกยอดอ่อนก้อจะมีดอกออกมาด้วยถ้ากิ่งนั้นสมบูรณ์)

หลังจากนี้ไปเขาก้อจะโตไว้มากแป๊ปเดียวลูกก้อจะโตมากโดยทั่วไปแล้วตามไร่องุ่นเค้าจะฉีดพ่นสารเคมีบางอย่างเพื่อให้องุ่นยืดช่อยืดลูกไม่ให้มันเบียดกันง่ายต่อการดูแลและลูกโตสำหรับผมแล้วไม่กล้าฉีดซื้อมาเหมือนกันกลัวมันอันตรายเพราะปลูกไว้กินเองไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีกินอยู่แบบธรรมชาติดีที่สุด 

พอองุ่นเริ่มเข้าสีคือองุ่นเริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงก้อยังให้น้ำปกติและก้อใส่มูลค้างคาวซัก 2 กำมืือโดยโรยไปรอบ ๆ ต้น แค่นี้องุ่นผมก้อหวานแล้วจนองุ่นสีแดงเสมอกันหมดก้อให้น้ำน้อยลงโดยดูที่ดินอย่าให้แห้งจนเกินไปอาจจะรดน้ำวันเว้นวันแล้วเป็นสองวันให้ครั้งนึงก้อได้จนองุ่นเกือบดำก้องดน้ำเลยแล้วลองเด็ดลูกองุ่นมาชิมดูว่าพวงไหนหวานก้อตัดมาทานได้ 

องุ่นผมหวานกรอบทุกช่อแต่ไม่หวานจนบาดคอเพราะผมไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มความหวานแต่ถ้าใครอยากให้หวานมากๆก้อใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ตอนที่องุ่นเริ่มเข้าสีก้อได้ไม่ว่ากันใส่ประมาณ 1- 2กำมือโดยหว่านรอบ ๆ ต้นนะครับ 

เมื่อเก็บผลิตเรียบร้อยแล้วก้อพักต้นซัก 20 - 30วันก้อเริ่มต้นทำให้ออกลูกใหม่ครับก้อทำเหมือนๆ เดิม ถ้าเราทิ้งระยะเวลาในการพรุนกิ่งนานก้อจะทำให้องุ่นออกลูกน้อยลง (อันนี้ผมเคยอ่านมาแต่จำไม่ได้ว่าจากที่ไหนแต่ผมเคยลองแล้วว่าจริง ๆ ด้วย)

ขอให้สนุกกับการปลูกองุ่นนะครับ
Read more ...

เกษตรกรที่ จ.สุรินทร์ปลูก"มัลเบอรี"ขายรายได้ดี

2.1.57
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกร ที่ จ.สุรินทร์ ปลูกต้น มัลเบอร์รี่ จำนวน 3 งาน สามารถเก็บผลผลิตลูกมัลเบอร์รี่ได้วันละ 40 กก. ขาย กก.ละ 100 บาท สามารถแปรรูปเป็นแยม ,น้ำผลไม้ได้
Read more ...

แม่โจ้แนะนำเทคนิคการเพิ่มผลผลิตมัลเบอร์รี่

2.1.57
 
โดยช่อง 7 เมื่อ 20 พ.ย.2556

เป็นเรื่องการเพิ่มผลผลิตมัลเบอร์รี่ ซึ่งเป็นงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเทคนิคนำลวดมาทำค้างผสมผสานกับการดูแลอย่างดี ผู้สื่อข่าวเกษตร ไปดูมาบอกว่าเป็นงานวิจัย ที่ช่วยให้ผลผลิตมัลเบอร์รี่เพิ่มขึ้นได้เท่าตัว

ที่สำคัญวิธีนี้เก็บผลผลิตได้ง่ายขึ้นด้วย ไปติดตามเรื่องนี้ในสารคดีเกษตรกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.089-264-2853
Read more ...

ม.แม่โจ้ ปลูกองุ่น ได้ผลผลิตดีในพื้นที่ราบ พร้อมส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกร

1.1.57
โดยมติชน เมื่อ 15 มี.ค.2555

"องุ่น" ไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ทางสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงนำมาทดลองปลูกในพื้นที่ราบและพบว่าได้ผลผลิตมาก มีคุณภาพดี พร้อมส่งเสริมให้กับเกษตรกร

ดร. ชินพันธ์ ธนารุจ สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จากการทดลองปลูกองุ่นบนที่สูงได้ผลดี แต่เมื่อเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ราบต้องการปลูก ยังมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจว่าสามารถปลูกได้หรือไม่ จึงได้ทำแปลงทดลองที่สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี 2554 โดยได้นำยอดพันธุ์มาต่อกับต้นตอเดิมที่มีอยู่แล้ว อายุประมาณ 5 ปี (ระยะปลูก 1x4 เมตร) ซึ่งพันธุ์ที่นำมาทดลอง ได้แก่

พันธุ์ 

"บิวตี้ซีดเลสส์", 
"เฟลมซีดเลสส์", 
"เพอร์เร็ท" (Perlette), 
"เคียวโฮะ" (Kyoho), 
"พลานอร่า" (Planora) และ
องุ่นทำไวน์ อีก 2 สายพันธุ์ 

รวม 8 สายพันธุ์ 

โดยมีการจัดการกิ่งและตัดแต่งกิ่งแบบที่ให้ผลผลิตเรียงเป็นระเบียบคล้ายกับก้างปลา จึงเรียกวิธีการจัดกิ่ง "แบบก้างปลา" ซึ่งมีผลทำให้องุ่นออกดอก ติดผล และคุณภาพดี

ภายหลังจากทดสอบที่สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนเป็นที่แน่ใจว่า องุ่นสามารถให้ผลผลิตได้ดีถึงแม้ว่าปลูกในพื้นที่ราบ เมื่อนำเทคนิคการจัดการกิ่งแบบประณีตเข้ามาใช้ ทำให้สามารถผลิตองุ่นได้ดีขึ้นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ

องุ่นที่ปลูกเน้นขึ้นค้างเพื่อการจัดกิ่งบนค้างให้ง่ายต่อการตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาโดยจัดกิ่งรูปตัวเอช (H) ซึ่งต่างจากระบบที่ทำกันทั่วไปแบบรูปตัวเอ็กซ์ (X) และทำให้ผลผลิตต่อต้นสูงและสม่ำเสมอในทุกๆ ปี โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 ครั้ง ต่อปี รวมถึงย่นระยะเวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวสั้นลงโดยใช้ต้นตอที่แข็งแรงและปลอดโรค ตลอดจนลดการใช้สารเคมีป้องกันโรคและแมลง โดยการสร้างโรงเรือนพลาสติกป้องกันหมอกและฝน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดและแพร่ระบาดของโรค และเพิ่มความหวานให้สูงขึ้นในช่วงผลผลิตออกในฤดูฝนโดยใช้ต้นตอที่มีระบบรากที่ไม่แข็งแรงมาก

ส่วนขั้นตอนของการปลูก เริ่มจากจัดทำโรงเรือนพลาสติกและทำค้าง เพื่อป้องกันหมอกและฝนที่เป็นสาเหตุในการแพร่ระบาดของโรค สามารถลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงได้มาก ซึ่งการทำโรงเรือนพลาสติกสามารถทำแบบดี โดยมีการระบายอากาศและปิดข้างด้วยตาข่ายป้องกันแมลงและนกได้ แต่ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น หรือทำแบบอย่างง่ายเพื่อลดต้นทุนโดยการคุมพลาสติกเฉพาะด้านบน ส่วนด้านข้างเปิดโล่ง 

ส่วนการทำค้างสามารถใช้ลวดขึงบนโครงสร้างของโรงพลาสติกได้ โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างของค้างภายในโรงเรือนหรือโรงพลาสติกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ การขึงลวดทำค้างให้มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 180 เซนติเมตร และมีความกว้าง 3.5-4 เมตร เพื่อง่ายในการจัดการดูแลรักษาและการจัดกิ่งบนค้าง โดยขึงลวดในแนวยาว เพียงด้านเดียวจากหัวแปลงไปถึงท้ายแปลง มีระยะห่างของลวดประมาณ 25-30 เซนติเมตร

จากนั้นเตรียมดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ทดสอบได้อย่างง่ายๆ คือ ขุดหลุมกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และเทน้ำให้เต็มหลุม ถ้าดินมีการระบายดี น้ำจะแห้งอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าดินระบายน้ำไม่ดีหรือดินเหนียว น้ำขังเป็นเวลานาน รากองุ่นก็จะแช่น้ำนาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นองุ่นด้วย ถ้าไม่สามารถเลือกพื้นที่หรือสภาพดินได้ต้องทำระบบร่องระบายน้ำใต้ดิน โดยทำร่องน้ำเล็กๆ ไว้ใต้หลุมปลูกซึ่งเมื่อฝนตกลงมาน้ำจะค่อยๆ ซึมผ่านลงร่องระบายอย่างช้าๆ ทำให้น้ำไม่ขังอยู่ภายในหลุมและดินไม่แห้งเร็วจนเกินไป ซึ่งมีผลเป็นอย่างมากต่อการปลูกและจัดการดูแลรักษาองุ่นในระยะยาว

สำหรับการตัดแต่งกิ่งกระตุ้นการออกดอกและติดผล เพื่อเพิ่มคุณภาพหลังจากจัดกิ่งบนค้างได้สมบูรณ์ และรอจนกระทั่งกิ่งเปลี่ยนสี มีอายุประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งช่วงนี้กิ่งแขนงหรือกิ่งย่อยจะมีการพัฒนาตาดอก โดยกิ่งเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลและตาข้างมีลักษณะนูนกลมในตำแหน่งตาที่ 5-6 ตัดแต่งเพื่อกระตุ้นให้ออกดอกและติดผล โดยตัดแต่งในช่วงตำแหน่งตาที่ 5 หรือ 6 หลังจากตัดแต่งแล้ว เด็ดใบทิ้งเพื่อกระตุ้นให้ตาดอกแตกพร้อมกันทุกกิ่งและสม่ำเสมอ

หลังจากตัดแต่งกิ่งและเด็ดใบเสร็จ ป้ายหรือพ่นสารกระตุ้นการแตกตาดอกให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้มีการแตกตาดอกพร้อมกัน หลังจากนั้น พ่นฮอร์โมนเพื่อยืดช่อดอกและขยายขนาดผลที่ช่อ ซึ่งจะพ่น 2 ครั้ง คือ ช่วงดอกบาน และหลังดอกบาน 10 วัน พร้อมทั้งตัดแต่งผล ครั้งที่ 1 หลังดอกบานประมาณ 10 วัน และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ ยังห่อผลเพื่อให้สีผิวผลองุ่นสีนวล ผลโตขึ้นมีคุณภาพดี จะเริ่มห่อองุ่นในช่วงเปลี่ยนสีหรือหลังดอกบานประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ซึ่งมีอายุการติดผลถึงเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน

สำหรับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 90-120 วัน หลังจากดอกบาน โดยมาตรฐานทั่วไปเฉลี่ยความหวานไม่ต่ำกว่า 16 องศาบริกซ์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ปัญหาเรื่องความหวานต่ำมักพบในช่วงฤดูฝนซึ่งต้องงดน้ำก่อนเก็บประมาณ 2 สัปดาห์ และพ่นปุ๋ย 0-0-60 หรือบอริกแอซิด ทางใบ 4 และ 2 สัปดาห์ ก่อนเก็บ จะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของยอดอ่อนและช่วยเพิ่มความหวานสูงขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจเทคนิคการผลิตองุ่นแบบประณีต เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตองุ่น ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. ชินพันธ์ ธนารุจ โทร. (089) 264-2853, (083) 863-4458
Read more ...

เกษตรน่ารู้ : การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเสียบยอด

1.1.57
โดยช่อง 7 เมื่อ 20 ธ.ค.255

การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเสียบยอด เกษตรกรมักจะใช้เชือกฟาง หรือผ้าพลาสติกพันให้รอยแผลติดสนิท ถึงแม้วัสดุดังกล่าวจะหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก แต่มีความยืดหยุ่นน้อย หากเกษตรกรขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีนี้ครั้งละมากๆ จะเสียเวลาและต้องจ้างแรงงานเพิ่มสำหรับแกะพลาสติกออกหลังจากรอยแผลที่เสียบยอดไว้ผสานกัน และเริ่มมียอดใหม่แตกออกมา

อาจารย์จากสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร แนะนำให้ใช้วัสดุที่ทำจาก "พาราฟิน" ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงกว่า และช่วยให้ยอดของต้นพืชสามารถแตกออกมาได้ ที่สำคัญวัสดุนี้สลายตัวได้เองตามธรรมชาติภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสียหายจากปัญหายอดช้ำจากการแกะพลาสติกออก ถึงแม้วัสดุจากพาราฟินจะมีราคาสูงกว่าพลาสติก แต่เกษตรกรก็ไม่ต้องเสียค่าจ้างแรงงานเพิ่ม

ข้อมูลเพิ่มเติม : อ.ชินพันธ์ ธนารุจ สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้
 
Read more ...

แม่โจ้แนะนำการปลูกต้นองุ่นในกระถางให้ผลผลิตดี

1.1.57
 
เมื่อ 12 ธ.ค.2555

ดร.ชินพันธ์ ธนารุจ อาจารย์สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต้องการสร้างทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น โดยรูปแบบการปลูกจะไม่ใช้วิธีขุดต้นที่ให้ผลผลิตแล้วจากแปลงมาลงปลูกในกระถาง

วิธีขยายพันธุ์และปลูกลงกระถางจะใช้วิธีเปลี่ยนยอด โดยเริ่มจากนำต้นตอองุ่นป่าที่ปักชำไว้จนออกรากแล้ว ย้ายปลูกลงในถุงดำ วัสดุปลูกที่ใช้ทำจากดินร่วนผสมถ่านแกลบก้อนเชื้อเห็ดเก่าทรายและปุ๋ยคอกอย่างละ 1 ส่วน วัสดุนี้มีน้ำหนักเบาทำให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย หลังปลูกต้นตอ 1 สัปดาห์ จึงเปลี่ยนยอดเป็นองุ่นพันธุ์ดี เช่น พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (BEAUTY SEEDLESS) หรือพันธุ์องุ่นสำหรับผลิตไวน์ ที่ให้ผลผลิตได้ง่าย ทั้งนี้ควรตั้งไว้ในที่ร่ม ดูแลรดน้ำทุกๆ 2-3 วัน

หลังจากเปลี่ยนยอด 2 สัปดาห์ ใช้เชือกผูกรั้งต้นองุ่นไว้กับขื่อ และคอยจัดแต่งต้นให้เลื้อยไปกับเชือกที่ขึงไว้ เมื่อต้นมีอายุ 3-4 เดือน ให้ตัดแต่งต้น จากนั้นอีก 1 เดือน ก็จะออกดอกรุ่นแรก เมื่อเริ่มติดผลเล็กๆ จึงย้ายลงปลูกในกระถางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้วขึ้นไป ก่อนปลูกให้วางโครงเหล็กสูง 1 - 1.5 เมตร ลงไปในกระถาง แล้วนำต้นองุ่นลงปลูก เติมวัสดุปลูกให้เต็มกระถาง จัดเถาให้เลื้อยไปตามรูปทรงของโครงเหล็กผูกยึดลำต้นและกิ่งให้แน่น แล้วดูแลใส่ปุ๋ยรดน้ำตามปกติ จากการทดลองปลูกด้วยวิธีนี้ต้นองุ่นจะให้ผลผลิตได้ดีกว่าการขุดจากแปลงมาปลูกในกระถาง

เกษตรกรที่ปลูกองุ่นเป็นอาชีพหลักนำวิธีนี้ไปปรับใช้ได้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับต้นองุ่น เพราะสามารถขายเป็นของฝากของขวัญได้
 
Read more ...

เกษตรกรรุ่นใหม่ แห่ง "วาสนาฟาร์ม" พลิกสวนสองจังหวัด ปลูกแตงญี่ปุ่นขึ้นห้างไทย

1.1.57


 
โดยเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อ 1 ก.ย.2552

แคนตาลูป และเมล่อน สองพืชตระกูลแตงที่กำลังครองความนิยมแซงหน้าแตงไทยไปไกลลิบ บ้างเรียก "แตงเทศ" และ "แตงญี่ปุ่น" เพราะแม้ว่าต้นกำเนิดสายพันธุ์ของแตงเหล่านี้มาจากแอฟริกา แต่ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตจนทั่วโลกให้การยอมรับในความหอมหวานทั้งกลิ่นและรสของเนื้อผลสดชนิดที่หาใครทัดเทียมได้ยาก

แม้ว่าปัจจุบันเกษตรกรไทยจะสามารถเพาะปลูกแตงเหล่านี้ได้ทั่วไปแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ จนเกษตรกรต้องตั้งฉายาว่า "แตงคุณหนู" อีกทั้งไม่สามารถปลูกแตงญี่ปุ่นในฤดูฝนได้ดี ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการส่งผลผลิตสู่ตลาด โดยเฉพาะในตลาดห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำต่างๆ ที่ต้องการความต่อเนื่องและคุณภาพเป็นหลัก จึงสังเกตได้ชัดเจนว่าในช่วงฤดูฝนจะมีแคนตาลูปและเมล่อนจากผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายวางจำหน่ายบนแผง

"ฟาร์ม เฟรช (FARM FRESH)" จัดเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีผลผลิตประจำแผงซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งยังขยายตลาดไปยังคาร์ฟูร์ ท็อปส์ โกลด์เดนเพลส และอาจกล่าวได้ว่าฟาร์ม เฟรช สามารถส่งแคนตาลูปและเมล่อนหลากหลายสายพันธุ์สู่ตลาดกลุ่มนี้ได้มากที่สุดถึง 8 สายพันธุ์ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่ามาจากสวนเมืองหนาวหรือมีปลูกในโรงเรือนอีแว็ปอย่างดี แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เพราะผู้ผลิตตัวจริงคือ "วาสนาฟาร์ม" แหล่งผลิตแตงเทศ แตงญี่ปุ่น พันธุ์ดีจากต่างแดน เจ้าของรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ ในการทำการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 130 ไร่ ในตำบลละโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาบเกี่ยวไปยังพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี (โทร.(081) 994-8868, (081) 801-8845 เป็นสวนแคนตาลูปกลางแจ้งที่ให้ผลผลิตดีไม่น้อยหน้าใคร ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยาและนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย

จากวิศวะกรรมเครื่องกล

สู่เกษตรกรเชิงวิทย์

ทุกผลผลิตของวาสนาฟาร์มเกิดจากความตั้งใจของสามพี่น้อง คือ

คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ 

คุณวาสนา สุพิงค์ และ 

คุณสรชา อรุณโรจน์ศิริ 

มีจุดเริ่มในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ราวปี 2540 ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน จนมาเริ่มจับทิศทางว่าจะปลูกแตงเทศคุณภาพเพื่อทำตลาดเมื่อช่วง 6 ปี ให้หลัง สามารถจับตลาดห้างและซุปเปอร์ชั้นนำได้สำเร็จด้วยยอดจำหน่ายแคนตาลูปและเมล่อนรวม 30 ตัน ต่อเดือน และส่งออกไปประเทศรัสเซียผ่านบริษัทส่งออกอีกราว 10% โดยมีแรงหลักคือ คุณภานุวัฒน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เริ่มจับงานเกษตรจริงจังด้วยวัยไม่ถึง 30 วันนี้ด้วยเพียง 36 ปี เขาก็สามารถก้าวขั้นกลายเป็นหัวหอกสำคัญของฟาร์ม ทั้งที่การศึกษาและสายงานในอดีตห่างไกลเกษตรกรรมโดยสิ้นเชิง

"เดิมทีผมทำงานด้านอุตสาหกรรม จบวิศวกรรมเครื่องกล จากเทคโนโลยีมหานคร แต่เกิดวิกฤต ปี"40 ตอนนั้นไฟแนนซ์ล้มหมด เราจะอยู่ในสาขาเดิมก็ไม่ใช่ จึงต้องมองธุรกิจใหม่ แต่เมื่อมองมาถึงภาคเกษตร ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เกษตรกรที่นั่นรวยกันหมดแล้ว ไต้หวันเกษตรกรรวย ญี่ปุ่นเกษตรกรก็รวย ทำให้เรากลับมาคิดว่า ทำไมเกษตรกรไทยจึงไม่รวย จึงกลายเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากหันมาพัฒนาตนเอง ซึ่งครอบครัวมีพื้นฐานด้านงานเกษตรอยู่บ้างให้ดีที่สุด" คุณภานุวัฒน์ เล่าย้อนความ

เริ่มแรกเขาใช้พื้นที่ 12 ไร่ ที่มีอยู่ปลูกพืชหลายชนิด มีตัวเด่นคือ ผักอินทรีย์ แคนตาลูป เมล่อน และมะละกอเรดมาลาดอร์ ซึ่งปัจจุบันหลายคนเรียกว่า ปักไม้ลาย หรือฮอลแลนด์ คุณภานุวัฒน์ บอกว่า เมื่อได้ศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว มะละกอเหล่านี้ก็คือเรดมาลาดอร์ มาจากเม็กซิโก ซึ่งหาสายพันธุ์แท้ในประเทศไทยได้ยากยิ่ง ประกอบกับมีปัญหาด้านการตลาดเช่นเดียวกับผักอินทรีย์ เขาจึงเลือกที่ทุ่มเทให้กับผลผลิตเพียงชนิดเดียวและจะพัฒนาให้ถึงสุดขั้ว นั่นคือ เมล่อน และแคนตาลูป ซึ่งตอนแรกแบ่งพื้นที่ปลูกไว้เพียง 1 ไร่ ต่อมาจึงค่อยๆ หาสายพันธุ์มาทดลองปลูกจนเพิ่มเป็น 5 ไร่ และกลายเป็น 130 ไร่ ในปัจจุบัน

"จากความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐานการใช้องค์ประกอบในเรื่องของเหตุและผลมาก่อน ทำให้เราเข้าถึงหลักของธรรมชาติอย่างแท้จริง จึงสามารถที่จะเข้าใจ เรียนรู้ และปรับปรุงคุณภาพพืชให้ดีออกมาได้ ตำราวิชาการด้านการเกษตรก็มีพื้นฐานจากเหตุและผลทั้งสิ้น เราตั้งสมมติฐานขึ้น หาวิธีแก้และลงมือจริง แต่อาจต้องใช้เวลา อย่างเรื่องโรคและแมลง เราก็เจอปัญหาตั้งแต่ยุคแรก เช่น เพลี้ยไฟ ที่ระบาดมาจากแปลงข้าวใกล้เคียง 

เราก็ต้องแก้โดยหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อหลบหลีกในช่วงฤดูข้าว สร้างบังเกอร์แนวปะทะโรค โดยปลูกให้เป็นป่าถาวร เราต้องแก้ไขและวางแผน รวมถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรต่างๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยเพื่อทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ที่นี่คือ แฟคตอรี่ เป็นเหมือนโรงงานแห่งหนึ่งที่มีการผลิตเป็นระบบ เป็นขั้นตอนตั้งแต่เตรียมแปลงถึงเก็บเกี่ยวจนได้ผลผลิตออกมาแต่ละรุ่น และทุกรุ่นจะถูกบันทึกสรุปเป็นไว้ ซึ่งมีรหัสที่จะติดตามไปยังผลผลิตทุกผล ไปสู่ตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้"

มองตลาด นำการผลิต

พบสุดยอด เมล่อน "ไซตามะ"

คุณภานุวัฒน์ ให้เหตุผลที่เลือกพัฒนาแคนตาลูปและเมล่อนให้สุดขั้วว่า เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องมีความรู้ ต้องใช้เทคโนโลยี และค่อนข้างเสี่ยงต่อความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของพืชชนิดนี้ แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าคู่แข่งทางการตลาดจึงมีน้อยไปด้วย ที่สำคัญคือ ผู้ปลูกได้ส่วนใหญ่จะมีผลผลิตเป็นไปตามฤดูกาล คือฤดูร้อน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยจะผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้มวลรวมของผลผลิตกระจุกตัวจนมีราคาถูก ปัญหานี้กลับกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้กับคุณภานุวัฒน์ต้องหาคำตอบ

"มันก็เป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิดอีกว่า ควรทำอย่างไร ให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี คำตอบที่ได้คือ ต้องพัฒนาเรื่องของสายพันธุ์ ผมทดลองสายพันธุ์ที่นี่มากกว่า 30 ชนิด ซึ่งการทดลองแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าจะให้แม่นยำจริงๆ ก็คือ 3 ปี จึงจะสรุปได้ว่า สามารถปลูกได้ในพื้นที่นี้ได้และสามารถทำตลาดได้ต่อเนื่อง เราพยายามหาสายพันธุ์เองทั้งสายพันธุ์ของไทย ของไต้หวัน และของญี่ปุ่น"

ผลจากความพยายามในการคัดสรรสายพันธุ์แคนตาลูปและเมล่อนที่ดี วาสนาฟาร์มจึงลงตัวที่ผลผลิตคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวน 8 สายพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะผลและสีของเนื้อต่างกัน แต่ความหอมหวานไม่มีใครแพ้ใคร โดยคุณภานุวัฒน์ใช้ชื่อสายพันธุ์เป็นชื่อทางการค้า ได้แก่ ออเรนจ์เนต กรีนเนต ( เจแปนนิส มัสค์ เมล่อน เนื้อส้มและเนื้อเขียว) ท็อปซัน ท็อปสตาร์ (แคนตาลูปลูกผสม เนื้อเขียว) สยามโกลด์,ท็อปโกลด์ (แคนตาลูปเนื้อส้มและแคนตาลูปสีทอง เนื้อส้ม)และซันไช่ แอปเปิ้ลเมล่อนหอมหวาน 

ส่วนอีกสายพันธุ์ก็คือ "ไซตามะ" เมล่อนรสเลิศผลกลมสวย สายพันธุ์ดีจากญี่ปุ่น ที่เขาสามารถพัฒนาเทคนิคการปลูกในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากสวนที่ได้รับรางวัลสุดยอด OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จากกรมพัฒนาชุมชน แต่กว่าจะได้สายพันธุ์นี้ผู้ผลิตสายพันธุ์ที่ญี่ปุ่นต้องบินข้ามประเทศมาวาสนาฟาร์มถึง 7 ครั้ง เพื่อนำพันธุ์มาให้ทดลองปลูกทั้งหมด 9 สายพันธุ์ แต่สุดท้าย 1 ใน 9 ที่คุณภานุวัฒน์เลือกปลูกก็คือ ไซตามะ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่น แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่น มีการซื้อขายผลสดในราคาสูงถึงผลละ 3,500-4,500 บาท

"ทางมิสเตอร์ฟุคาว่า ผู้ผลิตสายพันธุ์เขาก็สงสัยว่า ทำไม เราจึงเลือกสายพันธุ์นี้ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะปลูกในอากาศเย็น ขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ เหมาะกับปลูกในบ้านเรามากกว่า คือสายพันธุ์อากาศร้อนชื้น แต่ผมเห็นว่าไซตามะเป็นเมล่อนที่เด่นสุดยอดมาก ทรงผลเป็นทรงกลม ลายนูนสวยงาม สีเนื้อเป็นสีเหลืองอำพัน เนื้อนุ่ม หอมหวาน ซึ่งจากการเราปลูกมามากมายที่ผ่านมายังเทียบไม่ได้ และยังเป็นผลผลิตที่เด่นที่สุดในญี่ปุ่น และเราก็ปลูกได้คุณภาพดีที่สุดด้วย"

คุณภานุวัฒน์ ใช้เวลาพัฒนาการปลูกไซตามะเป็นเวลา 3 ปี จนมีเทคนิคการปลูกซึ่งแตกต่างกับวิธีการปลูกที่ญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของไซตามะเจริญเติบโตในอุณหภูมิเพียง 5 องศา เมื่อนำมาปลูกในที่อุณภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศา เขาจึงต้องพยายามปรับปรุงสภาพให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ซึ่งใกล้เคียงกับแตงญี่ปุ่นสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดพันธุ์จากเมืองหนาวเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ความสมบูรณ์ของดิน การระบายน้ำ ยุทธศาสตร์ฟาร์มที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคและแมลง ที่สำคัญคือเรื่องการจัดการต้น ที่ต้องรวดเร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเก็บดอก เก็บแขนง การเก็บใบ การเลือกผลคงต้นที่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมปุ๋ยที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการคำนวณที่เหมาะสมจึงจะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์สู่ผู้บริโภคคนไทย ที่สามารถซื้อหามาลิ้มรสได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 270 บาท ถูกกว่าแตงญี่ปุ่นนำเข้าหลายเท่าตัว

ความน่าสนใจของวาสนาฟาร์ม ยังไม่หมดแค่ผลผลิตพันธุ์ดี แต่แนวคิดการจัดการที่เป็นขั้นตอนและนำหลักเหตุและผลยังเป็นเรื่องที่เกษตรกรทั่วไปสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ปัจจุบันวาสนาฟาร์มจึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญอีกแห่งของพระนครศรีอยุธยาที่คุณภานุวัฒน์มุ่งหมายเผยแพร่วิธีคิดแบบเกษตรกรรุ่นใหม่แก่ผู้อื่น พร้อมเปิดฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อนำความยั่งยืนสู่ชุมชน และคงยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสายพันธุ์แตงญี่ปุ่นสายพันธุ์ดีสู่ผู้บริโภคคนไทย ล่าสุดทดลองปลูก "เมล่อนเลมอน" เมล่อนกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ได้สำเร็จ เตรียมทำตลาดปลายปี และมุ่งนำฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐานระดับสากล

หากท่านใดสนใจดูงานในวาสนาฟาร์ม สามารถติดต่อ คุณภานุวัฒน์ ได้ที่เบอร์ข้างต้น หรือถ้าไม่สะดวกขับรถไปเองทีมเกษตรสัญจรจัดให้มีโปรแกรมเที่ยวเมืองกรุงเก่า ซึ่งจะพาทุกท่านไปพบคุณภานุวัฒน์ตัวจริง พร้อมเลือกชิม เลือกซื้อ ผลผลิตแสนอร่อย ราคากันเอง ในวันเสาร์ที่ 19 กันยายนนี้ สนใจติดต่อด่วน (รับจำนวนจำกัด)ที่ โทร.(02) 589-2222,( 02) 589-0492, (02) 954-4999 ต่อ 2100 (คุณณัฐสมน) 2101 (คุณญาฑิกานต์) 2102 (คุณวนิดา) และ 2103 (คุณอนุวัฒน์) ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.
Read more ...

การผลิตฝรั่งแบบประณีตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการปลูกฝรั่งขึ้นค้าง ตอนที่ 2 (จบ)

1.1.57
หลักการและแนวความคิดในการผลิตฝรั่งขึ้นค้าง ได้ดัดแปลงมาจากการผลิตองุ่น แบบปราณีต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการเลี้ยงกิ่งองุ่น อย่างเป็นระเบียบ แบบก้างปลา ซึ่งทำให้กิ่งมีความสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดี ฝรั่งมีการเจริญเติบโตและนิสัยการออกดอกและติดผลคล้ายองุ่น คือ จะออกดอกและติดผลที่ยอดใหม่หลังจากที่มีการกระตุ้นให้ออก ซึ่งฝรั่งสามารถออกดอกและติดผลได้ง่ายกว่า จึงได้พัฒนาระบบการผลิตฝรั่งขึ้นค้างเพื่อให้กิ่งที่สม่ำเสมอและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี

การจัดการกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต : ฝรั่งเป็นไม้ผลที่สามารถให้ผลผลิตตลอดปี กรณีที่มีการดูแลรักษาดีผลผลิตจะได้คุณภาพดี ปค่ถ้าหากดูแลไม่ดีผลผลิตที่ได้จะไม่มีคุณภาพตจำเป็นต้องตัดทิ้งและบังคับให้ออกในกิ่งใหม่

หลักการคือ : ในการผลิตฝรั่งขึ้นค้างจะมีข้อดีคือเมื่อโน้มกิ่งที่ให้ผลผลิตหรือกิ่ง cane ลง ในช่วงที่แตกยอดอ่อนหรือที่โคนของกิ่ง cane (ภาพที่ 8 ก และ ข ) ซึ่งกิ่งเหล่านี้จะเป็นกิ่งที่พร้อมจะให้ผลผลิตในช่วงต่อไป โดยเราจะปล่อยให้กิ่งเจริยเติบดตตั้งขึ้นจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงทำการตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลผลิตแล้วออกไป และโน้มกิ่งกระโดงที่ตั้งอยู่ลงมาแทนที่และยึดกิ่งติดกับลวด

การจัดทรงต้นขึ้นค้างแบบรูปตัววาย (Y-Shaped) ในการเลี้ยงกิ่งฝรั่งขึ้นค้างแบบผืนพบว่า มีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของกิ่งที่ค่อนข้างช้า สาเหตุมาจากการโน้มกิ่งให้นอนราบไปกับค้าง ด้วยองศาของกิ่งและยอดที่ต่ำลงทำให้การเจริญเติบโตของกิ่ง cane ช้าลง และยังส่งผลทำให้กิ่งกระโดงแตกได้ง่ายและเร็วเกินไป การแตกกิ่งกระโดงบนกิ่งกระโดงแตกได้ง่ายและเร็วเกินไป การแตกกิ่งกระโดงบนกิ่งหลังหรือโคนกิ่ง cane จะมีผลทำให้กิ่งกระโงข่มกิ่ง cane ที่กำลังจะให้ผลผลิตทำให้กิ่งไม่เจริญเติบโต ต้องมีการตัดแต่งกิ่งกระโดงทิ้งเพื่อลดการข่มของกิ่งกระโดง ดังนั้น จากการทดสอบจึงได้คิดหาวิธีการลดกิ่งกระโดง โดยการจัดการกิ่งรูปตัววาย (Y-Shape) ซึ่งจะทำให้กิ่ง cane มีความสม่ำเสมอทั้งขนาดและความยาวของกิ่ง นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดกิ่งกระโดงได้ดีอีกด้วย ซึ่งการจัดทรงต้นแบบตัววาย ได้ทำแปลงทดสอบสาธิตในโครงการพระราชดำริ โครงการชั่งหัวมันที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งจะเป็นที่สำหรับศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรและผู้สนใจต่อไป


ภาพที่ 8 : การโน้มกิ่งแทนที่กิ่งเก่าที่เก็บผลผลิตแล้ว 

ก)ลักษณะกิ่งข้าง cane ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วและมีกิ่งกระโดงตั้งขึ้นบริเวณกิ่งหลังหรือโคนกิ่งโคน cane 

ข)ตัดกิ่ง cane เก่าที่เก็บผลผลิตแล้วออก 

ค)ภาพหลังการตัดกิ่ง cane ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทิ้งแล้ว 

ง)โน้มกิ่ง cane ที่เป็นกิ่งกระโดงลงมาแทนกิ่งเก่าที่ตัดทิ้งไป



แบบจำลองการจัดกิ่งบนค้างแบบเป็นรูปตัว Y โดยการจัดเรียงบนค้างอย่างเป็นระเบียบแบบก้างปลา 



ประเมินผลตอบแทนกำไรขาดทุนในรอบ 3 ปีต่อพื้นที่ 1 ไร่ 

พื้นที่ 0.5 ไร่ ประกอบด้วยดรงเรือนจำนวน 4 โรงเรือน มีจำนวนต้นที่ปลูก 60 ต้น(ระยะปลูฏ 4*3 ตารางเมตร) โดยปลูกจำนวน 6 แถว ๆ ละ 10 ต้น

ในการคำนวณเบื้อต้น ผลผลิตชุดแรกจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูก 1 ปี และสามารถผผลิตได้ 2 ครั้ง ต่อปี

ซึ่งจะให้ผลผลิต 50 กก. ต่อต้น มีฝรั่งจำนวน 60 ต้น จะได้ 3,000 กก. จำหน่ายในราคา 25 บาท/กก. จะมีรายได้ 75,000 บาท

และคิดค่าจัดการความเสี่ยง 20% ในปีที่ 1 ของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้น จะมีรายรับประมาณ 60,000 บาทในปีแรก และ 150,000 บาท ในปีถัดไป (ผลผลิต 2 ครั้ง * 60,000 บาท)
อนึ่งการผลิตฝรั่งเพื่อการค้าแบบการจัดการดูแลและการตัดแต่งและการจัดการกิ่งใหม่ ให้ผลผลิตแทนกิ่งเก่าเป็นเทคโนโลยีแนวใหม่ ถึงแม้ว่าจะลงทุนสูงแต่สามารถให้ผลตอบแทนที่คุ้มทุนได้และมีกำไรในปีที่ 2 และเพิ่มขึ้นในปีที่ 3 และปีถัดไป ตามที่ได้แสดงในตารางประเมินผลตอบแทนกำไรขาดทุนในรอบ 3 ปี
ที่มาและภาพประกอบ :
ดร.ชินพันธ์ ธนารุจ."การผลิตฝรั่งแบบประณีตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการปลูกฝรั่งขึ้นค้าง ตอนจบ".วารสารเคหการเกษตร 37,ฉบับที่ 10(2556):107-110
Read more ...

การผลิตฝรั่งแบบประณีตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการปลูกฝรั่งขึ้นค้าง ตอนที่ 1

1.1.57
หลักการและแนวความคิดในการผลิตฝรั่งขึ้นค้างได้ดัดแปลงมาจากการผลิตองุ่นแบบประณีต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการเลี้ยงกิ่งให้มีความสม่ำเสมอและให้ผลผลิตได้ดี ฝรั่งมีการเจริญเติบโตและนิสัยการออกดอกติดผลที่คล้ายกับองุ่น คือ จะออกดอกและติดผลที่ยอดใหม่หลังจากมีการกระตุ้นให้ออก ซึ่งฝรั่งสามารถออกดอกและติดผลได้ง่ายกว่า จึงได้พัฒนาระบบการผลิตฝรั่งขึ้นค้างเพื่อให้ได้กิ่งที่สม่ำเสมอ และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี

ภาพที่ 1: ลักษณะการผลิตฝรั่งขึ้นค้างโดยการทำค้างแบบผืน(Pergola)ที่ทำให้การจัดการดูแลรักษาได้ง่าย 

ฝรั่งมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายเพราะเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยซึ่งคนไทยรู้จักและนิยมบริโภคฝรั่งกันอย่างแพร่หลายทั้งในรูปผลสดและแปรรุปต่างๆ จากที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นผลดีต่อผู้ผลิตเพราะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ง่าย และจะได้ราคาสูงขึ้นถ้าหากสามารถ ผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง

ปัญหาของการผลิตฝรั่งโดยทั่วไป คือ ฝรั่งเป็นไม้ผลที่ปลูกง่ายเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของประเทศไทยจึงการปลูกกันอย่างแพร่หลาย มีทั้งการปลูกแบบที่มีการจัดการที่ดีและปลูกแบบไม่มีการจัดการเลย ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอและมีราคาไม่คงที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง โดยเฉพาะแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผลผลิตฝรั่งไม่ได้คุณภาพ และไม่สามารถจำหน่ายได้

กรณีที่จะปลูกเป็นการค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องห่อผลทุกผลซึ่งการห่อผลจะทำให้ผิวสวยและมีคุณภาพดี ฝรั่งเป็นไม้ผลที่ออกดอกและติดผลง่ายไม่จำเป็นต้องมีการบังคับให้ยุ่งยากแบบองุ่นหรือลำไยเพียงตัดแต่งกิ่งให้ได้กิ่งที่สม่ำเสมอก็จะให้ผลผลิตที่ดีและสม่ำเสมอ เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดทรงต้นแบบขึ้นค้างและการเลี้ยงกิ่งแบบก้างปลา(ภาพที่ 5 ) โดยให้กิ่งที่จะให้ผลผลิต(cane)มีขนาดและความยาวสม่ำเสมอกันทุกกิ่งซึ่งจะส่งผลให้การออกดอกและติดผลง่าย ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ประกอบกับการทำค้างจะช่วยให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ลดการเกิดโรค ช่วยลดการใช้สารเคมี และ ยังสะดวกในการห่อผล ทำให้ผลผลิตได้คุณภาพดี นอกจากนี้กิ่งบนค้างยังสามารบดบังแสงแดดให้กับผลผลิต จึงไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษห่อผลก่อนที่จะห่อด้วยถุงหลาสติก ปละยังช่วยบังแสงแดดให้กับชาวสวนผู้ปลูกได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในการทดสอบการผลิตฝรั่งแบบขึ้นค้าง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นแปลงสาธิตในการผลิตแบบประณีต โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตฝรั่งให้ได้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการผลิตนอกฤดู หรือ ผลิตให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้ผู้ปลูกมีรายได้ดีและเป็นการส่งเสริมเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตฝรั่งระบบค้าง ให้กับเกษตรกรปละผู้สนใจทั่วไปให้มีการผลิตที่ปราณีตและได้คุณภาพอย่างแพร่หลายต่อไป


ภาพที่ 2 : ลักษณะการทำค้างแบบผืนผ้า(Pergola) และการดึงลวดททางเดียวจากหัวแปลงไปท้ายแปลง 

++ การเตรียมการจัดทำค้าง ++

การทำค้างนอกจากทำให้การจัดการดูแลฝรั่งได้ง่ายแล้วยังช่วยให้มีการรับแสงแดดได้ดีและมีการระบายถ่ายเทอากาศ ลดการเกิดโรคและรวมถึงลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคด้วย ซึ่งการทำค้างสามารถทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการจัดการหรือวัตถุประสงค์ในการจัดการ เช่น ทำเพื่อผลิตฝรั่งเพื่อการค้าหรือทำเพื่อเป็นซุ้ม หรือร่มเงา เพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ในที่นี้ผู้เขียนขอเน้นการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเพื่อการค้า โดยสามารถทำค้างเป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 : การทำค้างเป็นผืน(Pergola) สามารถทำค้างเป็นผืนทั้งแปลง (ภาพ 2 ) โดยใช้เสาคอนกรีตอัดแรงหรือเสาไม้เนื้อแข็งขุดฝังดินและใช้ไม้เนื้อแข็งหรือเหล้กกล่องหรือเหล็กตัวซีทำคาน ให้มีความสูงจากผิวดินประมาณ 180 ซม. ดึงเส้นลวดเบอร์ 16 แนวหัวท้ายแปลงให้มีระยะห่างระหว่างเส้นลวดประมาณ 30 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการกิ่งบนค้าง และการระบายอากาศ ลดการเกิดโรค(ภาพที่ 1) ซึ่งการทำค้างแบบเป็นผินจะช่วยลดต้นทุนแต่มีข้อเสียคือกิ่งที่ได้อาจมีขนาดเล็กลง แต่จะมีข้อดีคือฝรั่งมีความหวานสูง

แบบที่ 2 : การทำค้างรูปตัววาย (Y-shaped) การทำค้างแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับการทำเป็นผืนเพียงแต่จะยุ่งยากกว่าเล็กน้อบคือต้องลดระดับเส้นลวดในส่วนที่เป็นกิ่งหลักลงเพื่อให้กิ่ง cane ตั้งขึ้นเป็นมุม 45-60 องศา จะทำให้กิ่ง cane สามารถเจริญเติบโตได้ดีทำให้ได้กิ่งที่ใหญ่และโดยทั่วไปผรั่งเป็นไม้ผลที่ออกดอกและติดผลในยอดที่แตกใหม่ได้ง่าย ดังนั้นการโน้มกิ่งลงมาเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลต่อการออกดอกติดผล แต่ทำให้กิ่ง cane มี่คุณภาพดี และจะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีขึ้นด้วย (ภาพที่ 3 ) ซึ่งในการทำค้างแบบตัววายได้ทำเป็นแปลงสาธิตที่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี


ภาพที่ 3 : ลักษณะทำค้างรูปตัววาย(Y-shaped) และการดึงลวดทางเดียวจากหัวแปลงไปท้ายแปลง 

การจัดการกิ่งฝรั่งบนค้าง : ฝรั่งเป็นไม้ยืนต้น เมื่อนำมาจัดการกิ่งขึ้นค้างถือเป็นเทคนิคการจัดการแบบใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ความเข้าใจถึงนิสัยการเจริยเติบดตของฝรั่งและนำมาประยุกตืใช้กับการจัดการกิ่งบนค้าง ซึ่งดดยทั่วไปฝรัางจะออกดอกและติดผลได้ดีหลังจากที่แตกยอดใหม่ กล่าวคือ เมื่อมียอดใหม่แตกออกมาจากกิ่งที่ให้ผลผลิต (cane) ประมาณ 3-5 คู่ใบก็จะมีดอกออกมาให้เห็น ดังนั้นถ้าเราทำการจัดเรียงกิ่ง cane ให้เป็นระเบียบแบบก้างปลาบนค้าง(ภาพที่ 4)และบังคับให้กิ่ง cane มีขนาดและความยาวสม่ำเสมอทั้งต้น ซึ่งจะได้จำนวนกิ่ง cane ประมาณ 40 กิ่งต่อต้น (ระยะปลูกระหว่างแถว 3 เมตร ระหว่างต้น 4 เมตร)


ภาพที่ 4 : แบบจำลองการจัดกิ่งบนค้างแบบเป็นผืน โดยการจัดเรียง อย่างเป็นระเบียบแบบก้างปลา

ในแต่ละกิ่ง cane จะมีความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร สามารถบังคับให้เกิดยอดใหม่ได้ 10-15 ยอดใหม่ ในการจัดกิ่งเมื่อฝรั่งให้ผลผลิตจะทำให้สามารถให้ผลผลิตต่อกิ่งได้มากขึ้นคือ 5 ผลต่อ 1 กิ่ง cane (โดยทั่วไปจะตัดแต่งผลทิ้งโดยให้ติด ผลประมาณ 5 ผลต่อกิ่ง cane) เพราะมีเส้นลวดรองรับกิ่งที่ให้ผลผลิตทำให้สามารถให้ผลผลิตต่อกิ่ง cane เพิ่มได้มากขึ้นและลดปัญหาเรื่องกิ่งหักเมื่อผลผลิตมีขนาดใหญ่ขึ้น

ภาพที่ 5 : การปลูกฝรั่งขึ้นค้างที่มีการจัดการกิ่งแบบประณีต 

(ก) ลักษระค้างแบบผืน 

(ข) การเด็ดยอดเพื่อแตก 2 ข้าง และ เลี้ยงต้นฝรั่งขึ้นค้าง

(ค)การเลี้ยงกิ่งหลักออก 2 ข้างตามแนวลวด

(ง)การเลี้ยงแบบกิ่งก้างปลา 


ภาพที่ 6 : การจัดกิ่งฝรั่งขึ้นค้างที่มีการจัดการแบบประณีต

ก)ลักษณะกิ่งข้าง cane ที่แตกออกจากกิ่งหลัก 

ข)ปล่อยกิ่งข้าง cane ให้เจริญตั้งตรงขึ้นไปประมาณ 80 ซม. 

ค)โน้มกิ่ง cane ลงโดยการโน้มสลับกิ่งให้ออกซ้าย-ขวาแบบก้างปลา และผูกยึดติดแนวลวด

ง)เด็ดปลายยอดกิ่ง cane ที่ได้ความยาวตามต้องการเพื่อให้กิ่งที่เจริญยังไม่เต็มที่เจริญต่อ

จ)เครื่องยึดกิ่งให้ติดแนวลวดจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น

ฉ)กิ่งที่ยึดติดกับลวดและจัดกิ่งอย่างเป็นระเบียบ 

นอกจากนี้การจัดการกิ่งบนค้างจะทำให้ง่ายต่อการประมาณการณ์ผลผลิตโดยการไว้จำนวนหิ่ง ประมาณ 10 กิ่ง cane ต่อความยาวของกิ่งประมาณ 1 เมตร ในแต่ละกิ่ง cane จะให้ผลผลิตประมาณ 5 ผล ถ้าปลูกระหว่างต้น 4 เมตร จะได้กิ่ง cane จำนวน 40 กิ่งซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณ 200 ผล ปริมาณ 2-3 ผลต่อกิโลกรัม จะได้ผลผลิต 50-70 กิโลกรัม และจะเพิ่มมากขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ถือเป็นการจัดการผลผลิตที่ประณีตและคุ้มค่าต่อการลงทุน

++ วิธีการเลี้ยงกิ่ง ++

1. เริ่มจากการปลูกผรั่งให้มีลำต้นเดี่ยวตั้งตรงจนถึงค้างที่ความสูงประมาณ 180 ซม. โดยการใช้ไม้หรือเชือกบังคับต้นให้ตั้งตรงและหมั่นเด็ดยอดที่แตกด้านข้างลำต้นออกเพื่อให้เจริญเติบดตให้ถึงค้างได้อย่างรวดเร็ว

2. เมื่อต้นถึงค้างให้เด็ดปลายยอดออก โดยเด็ดยอดให้ต่ำกว่าค้างประมาณ 25 ซม. หรือ ประมาณ 1 คืบ จากนั้นปล่อยฝห้แตกยอดข้าง 2 ยอด และปล่อยให้เจริญเติบโตและยางพ้นค้างประมาณ 80 ซม.(ภาพที่ 5 ข)

3. โน้มกิ่งทั้ง 2 ด้าน(กิ่งหลัก) ที่สูงจากลวดลงและทำการยึดกิ่งให้จิดกับเส้นลวดทั้ง 2 กิ่ง (ภาพที่ 5 ค)

4. เมื่อโน้มกิ่งหลักลงจะทำให้แตกกิ่งข้างออกจากกิ่งหลัก ปล่อยให้กิ่งข้างเจริญเติบโตและมีความยาวประมาณ 80 ซม. จากนั้นโน้มกิ่งลงให้กิ่งเรียงกันอย่างเป็นระเบียบคล้ายก้างปลา(เลี้ยงกิ่งแบบก้างปลา)และมัดกิ่งให้ยึดติดกับลวก ซึ่งกิ่งก้างปลาจะเปลี่ยนเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิต(cane)(ภาพที่ 5 ง)

5. เลี้ยงกิ่งหลักและกิ่ง cane ให้มีความยาวและกิ่งเต็มค้างโดยการเด็ดปลายยอดของกิ่ง cane เมื่อได้ความยาวตามที่ต้องการ(1-1.5 เมตร) ซึ่งการเด็ดยอดจะเป็น การบังคับให้มีการเจริญบริเวณส่วนปลายยอดของกิ่งหลัก และ กิ่ง cane ที่แตกออกมาใหม่ข้าวงยอดหลักเพื่อบังคับให้มีการเจริญเติบโตของกิ่งจนเต็มค้างและยึดกิ่งให้มีช่องว่างที่สม่ำเสมอ(15-20 ซม.) เพื่อให้แดดส่องถึง เพื่อลดการระบาดของโรคและทำให้ใบรับแสงได้เต็มที่ (ภาพที่ 6 ก-ง)

6. ในช่วงการเจริญเติบโตให้ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และ ปุ๋ยเคมี สูตร46-0-0 ผสมกับ 15-15-15 อัตรา 20 กรัม (1 ช้อนแกง ) ต่อต้น ใส่จนกระทั่งกิ่งโตเต็มค้าง

7. เมื่อกิ่งเต็มค้างให้เปลี่ยนใส่ปุ๋ยสุตร 8-24-24 เพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอก เมื่อกิ่ง cane เริ้มเปลี่ยนสีให้ทำการงดน้ำประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการออกดอกที่สม่ำเสมอ

8. เมื่อแตกยอดใหม่บนกิ่ง cane ประมาณ 3-5 คู่ ใบจะเริ่มออกดอกที่ยอดใหม่ (ภาพที่ 7 ก) และยอดที่แตกออกจากกิ่ง cane ที่มีจำนวนมากให้ทำการปลิดหรือตัดทิ้งให้เหลือไว้ประมาณ 5-7 ยอดโดยสลับยอดให้ออกซ้าย-ขวา
ภาพที่ 7 : การจัดการผลผลิตฝรั่งขึ้นค้าง 

(ก) ลักษระยอดที่แตกจากกิ่ง cane และมีดอกจำนวนมาก 

(ข) ยอดที่แตกจากกิ่ง cane ที่ต้องตัดทิ้งให้เหลือเพียง 5-7 ยอด 

(ค) ขนาดผลที่พร้อมจะห่อ 

(ง) ถุงห่อใช้ถุงห่อมะม่วง(ถุงคาร์บอนภายนอกสีน้ำตาล ภายในสีดำ ) 

 และจะติดผลภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อผลมีขนาดใหญ่ขึ้นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ทำให้การผลิตผลในแต่ละยอดอ่อนที่แตกใหม่ให้เหลือ 1 ผล ต่อยอด (ภาพที่ 7 ข)

โดยเลือกผลที่มีรูปทรงที่ดีที่สุดและไม่ถูกโรคหรือแมลงเข้าทำลาย (ภาพที่ 7ค)

9. ห่อผลด้วยถุงหลาสติกใส(ไม่ต้องห่อกระดาษเพราะมีใบบังแสงแดด) หรือถุงห่อที่เป็นกระดาษสีขาวหรือถ้าต้องการให้สีผิวผลออกมาสีขาวให้ใช้ถุงห่อกระดาษคาร์บอน(ถุงห่อผลมะม่วง) (ภาพที่ 7 ง)

10. ผลผลิตที่ได้จะมีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากกิ่งและยอดที่ให้ผลผลิตมีขนาดสมดุลกันทั้งต้น ทำให้การกระจายธาตุอาหารเป็นไปอย่างทั่วถึง ทั้งนี้การห่อผลยังช่วยในการเพิ่มขนาดผลผลิตได้และยังป้องกันการเข้าทำของโรค แมลง และ สัตว์ต่างๆ ได้

ติดตามอ่านเทคโนโลยีการปลูกฝรั่งขึ้นค้างต่อในฉบับหน้า ..

ที่มาและภาพประกอบ : 
ดร.ชินพันธ์ ธนารุจ."การผลิตฝรั่งแบบประณีตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยการปลูกฝรั่งขึ้นค้าง".วารสารเคหการเกษตร 37, ฉบับที่ 9(2556):109-113
Read more ...

ปลูกไม้ผลในกระถาง

1.1.57
เมื่อ 5 ก.ค.2554

การปลูกไม้ผลในกระถางแบบนี้ นอกจากจะได้ความสวยงามแล้ว ยังได้ผลผลิตไว้รับประทานด้วย อีกทั้งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่จำกัดเหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ ของชุมชนเมืองในปัจจุบัน แต่การปลูกในกระถาง มักจะมีปัญหาต้นไม้ผลให้ผลผลิตน้อย หรือไม่ยอมให้ผลเลย

ตามทันเกษตรมีคำแนะนำการใช้วัสดุปลูกให้เหมาะสม กับการปลูกไม้ผลในกระถาง ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตดี ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของ คุณพิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

วัสดุปลูกที่เหมาะสม ต้องโปร่งและเบา ที่สำคัญต้องมาจากแหล่งที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง แนะนำให้ใช้

แกลบดิบเก่า 2 ส่วน ผสมกับดินดำและปุ๋ยคอกจากมูลวัว อย่างละ 1 ส่วน 

ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมต่อต้นไม้ผลในกระถาง นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในถุงดำขนาด 4 X 7 นิ้ว ประมาณ 1 ส่วน 4 ของถุง นำกิ่งพันธุ์ไม้ผลลงปลูก ให้กิ่งตั้งตรง แล้วตักวัสดุปลูกใส่ให้เต็มถุงดำ อัดให้แน่น รดน้ำตามทันที เลี้ยงไว้ในที่ร่มให้น้ำวันเว้นวัน ประมาณ 1 เดือนจะเริ่มมีรากงอกออกมาและเจริญเติบโตเป็นต้นกล้า

จึงย้ายไปปลูกในกระถางขนาด 15 นิ้ว ใช้หญ้าแห้งหรือฟางคลุมวัสดุปลูกไว้ รดน้ำตามทันที นำไปวางเลี้ยงไว้กลางแจ้ง ให้ใช้อิฐบล็อกวางรองก้นกระถางไว้ด้วย เพื่อป้องกันรากชอนไชลงพื้นดิน ระหว่างนี้คอยหมั่นเติมวัสดุปลูกซึ่งเป็นอาหารของต้นไม้ผลไม่ให้ยุบด้วย 

ส่วนการดูแลระวังรากเน่า แนะนำให้น้ำเพียง 3 วันครั้งเท่านั้น 

บำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนชาก็พอ ต้องระวังไม่ใส่ปุ๋ยชิดโคนต้น เพราะจะทำให้รากไหม้ได้ 

เมื่อต้นไม้ผลอายุประมาณ 2 ปี ก็เก็บผลผลิตได้ จะเร็วกว่าการปลูกลงดินถึงเท่าตัว

การปลูกไม้ผลในกระถางแบบนี้ สามารถควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยช่วยให้ได้ผลไม้ที่มีรสชาติดีกว่าการปลูกในดิน ลดปัญหาโรคทางดินที่เกิดขึ้นได้ และยังเคลื่อนย้ายไปตั้งตามจุดต่าง ๆ เพื่อเป็นไม้ประดับได้อย่างง่ายดายด้วย
Read more ...